ประวัติคณะ ของ คณะวิศวกรรมศาสตร์_มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีดำริที่จะจัดการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 ดังมีหลักฐานปรากฏในข้อเสนอแผนดำเนินการโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนาคม 2521 ความว่า “25 ธันวาคม 2511 สภาการศึกษามีหนังสือ ที่ สร.0411 (1) แจ้งว่าได้ส่งเรื่องไปยังมูลนิธิฟอร์ดเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอความช่วยเหลือในการจัดสอนทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ชั้นปริญญาตรี และช่วยในการวางแผนก่อสร้างมหาวิทยาลัยที่รังสิตและวังหน้า” หลังจากปี 2511 ก็ได้มีการพัฒนาที่ดินมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่รังสิตมาโดยลำดับ และได้มีการจัดส่งอาจารย์ไปศึกษาต่อต่างประเทศทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ แต่ในช่วง 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 มหาวิทยาลัยประสบภาวะวิกฤตการณ์ ทางด้านการเมือง จึงทำให้โครงการต่าง ๆ ต้องชงักงันไป

ในปี พ.ศ. 2531 สมัยศาสตราจารย์เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เสนอโครงการจัดตั้ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในช่วงการปรับแผนพัฒนาการศึกษา ระยะที่ 6 โดยผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2531 และจัดส่งให้ทบวงมหาวิทยาลัยพิจารณา เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2531 ขณะเดียวกันได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2531  พิจารณาเรื่องการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในภูมิภาค ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้ยกฐานะวิทยาลัยในหลายจังหวัดขึ้นมาเป็นมหาวิทยาลัยและได้มีมติ “ให้ทบวงมหาวิทยาลัยรับไปพิจารณาเสนอจัดตั้ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์ ขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยด่วน”

เมื่อข้อเสนอโครงการจัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการปรับแผนพัฒนาการศึกษา ระยะที่ 6 ของทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2531 และได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการทบวงมหาวิทยาลัย ในเดือนกรกฎาคม 2532 แล้ว ทบวงมหาวิทยาลัยได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกา จัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ไปยังสำนักงาน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่าง ๆ โดยต้องให้สำนักงบประมาณ และสำนักงาน ก.พ. พิจารณาเสนอความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งในที่สุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับหลักการเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2532 และได้ส่งร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะฯ ให้สำนักงาน คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา จากนั้นสำนักเลขาธิการ คณะรัฐมนตรีได้ส่งไปยังสำนักราชเลขาธิการเพื่อโปรดเกล้าลงพระปรมาภิไธย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อวันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม 2532 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงถือว่าวันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม 2532 เป็นวันจัดตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้เริ่มดำเนินการเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยในด้านการจัดการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวิศวกรรมศาสตร์ในช่วงการปรับแผนพัฒนาการศึกษา ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2533-2534 (2 ปีสุดท้ายของแผน) เพื่อให้มีส่วนในการผลิตวิศวกรสาขาต่าง ๆ ออกไปรับใช้สังคมและประเทศชาติ อันเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐในการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันเสาร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2532

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงกำหนดให้วันนี้เป็นวันสถาปนาคณะวิศวกรรมศาสตร์ โดยเป็น คณะที่ 10 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งที่ 9 ในมหาวิทยาลัยของรัฐโดยเริ่มมีการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ ปีการศึกษา 2533 เป็นต้นมา

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปีการศึกษาการดำเนินงาน
2533เปิดรับนักศึกษา 2 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ
2534เปิดรับนักศึกษา สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
2536เปิดรับนักศึกษา สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี
2538เปิดรับนักศึกษา สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
2539เปิดรับนักศึกษาโครงการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสองสถาบัน โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งน็อตติ้งแฮมประเทศอังกฤษ 5 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี และสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
2540เปิดรับนักศึกษาหลักสูตรปริญญาโทสาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ และสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
2545เปิดรับนักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ภาคภาษาอังกฤษ 5 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี และสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
เปิดรับนักศึกษา หลักสูตรปริญญาโท 2 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และสาขาวิชาเคมี
เปิดรับนักศึกษา หลักสูตรปริญญาเอก สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
เปิดหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
2549เปิดรับนักศึกษาโครงการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสองสถาบัน โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งนิวเซาท์เวลล์ ประเทศออสเตรเลีย 5 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิชาวิศวกรรมเคมี และสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล
2551เปิดหลักสูตรปริญญาตรี-โท วิศวกรรมศาสตร์และการจัดการเชิงธุรกิจ (Engineering and Business Management) และหลักสูตรปริญญาโท-เอก วิศวกรรมทางการแพทย์ (Medical Engineering)
2554เปิดหลักสูตรควบวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตและวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้าอุตสาหการ (Integrated Program of Bachelor and Master of Engineering in Industrial Electrical Engineering)
2556เปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิศวกรรมยานยนต์ (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) (Automotive Engineering Program)
2557เปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Bachelor of Engineering Program in Software Engineering) 

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ได้ขยายการเรียนการสอน และให้บริการศูนย์ฝึกอบรม สัมมนาในภูมิภาค มีนโยบายที่จะพัฒนาศูนย์การศึกษาภูมิภาคอย่างจริงจัง เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา และนำความเป็นเลิศทางวิชาการ วิธีคิดและวิถีของความเป็นธรรมศาสตร์ไปสู่ชุมชนภาคภาคตะวันออกอย่างมีประสิทธิภาพ ในปี พ.ศ. 2557 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา ได้รับเงินสนับสนุนจาก บริษัท สยามกลการ จำกัด ในการสร้างอาคารปฏิบัติการวิศวกรรมยานยนต์ เป็นจำนวนเงิน 68 ล้านบาท และอาคารสนับสนุนการเรียนการสอน (หอพัก) เป็นจำนวนเงิน 30 ล้านบาท อีกทั้งบริษัทสยามกลการยังได้บริจาคเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในอาคารปฏิบัติการวิศวกรรมยานยนต์ และทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์ที่มีผลการเรียนดี   

ใกล้เคียง

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย