ประวัติ ของ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน_มหาวิทยาลัยมหิดล

คณะเวชศาสตร์เขตร้อน เป็นคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งขึ้นโดยการริเริ่มของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์จำลอง หะริณสุต และศาสตราจารย์ แพทย์หญิงคุณหญิงตระหนักจิต หะริณสุต[2] จากแนวคิดที่ว่า หลักสูตรแพทยศาสตร์ของประเทศไทยในสมัย 50 ปีก่อน ไม่มีการเรียนการสอนเฉพาะทางโรคเขตร้อน แพทย์ผู้ที่สนใจจะศึกษาต่อเฉพาะทางโรคเขตร้อนต้องเดินทางไปศึกษาในต่างประเทศ เช่น ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีสถาบันที่มีชื่อเสียงเรื่องโรคเขตร้อนตั้งอยู่ ทั้ง ๆ ที่แพทย์ไทยมีความจำเป็นต้องให้บริการตรวจและรักษาคนไข้ด้วยโรคเขตร้อนอยู่เสมอ เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร แนวคิดของท่านทั้งสองที่จะจัดให้มีสถาบันโรคเมืองร้อนขึ้นในประเทศไทยนั้น มีผู้เห็นด้วยและได้รับการสนับสนุนจากบุคคลสำคัญหลายท่านในขณะนั้น ได้แก่ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สวัสดิ์ แดงสว่าง อธิการบดีมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ ศาสตราจารย์ บี จี มีเกรท คณบดีสถาบันเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ ดร.กำแหง พลางกูร เลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

ในที่สุดจึงได้มีการก่อตั้งคณะอายุรศาสตร์เขตร้อน (ชื่อเดิม) ขึ้นในสังกัดมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (หรือมหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2503 โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อ "สอนและอบรมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความรู้ความชำนาญในการบำบัด รักษา และป้องกันโรคเขตร้อน ทำการศึกษาวิจัยค้นคว้าเพื่อการแก้ปัญหาโรคเขตร้อน ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ พร้อมทั้งให้บริการรักษาผู้ป่วย รับปรึกษาให้คำแนะนำแก่แพทย์ และสถาบันการแพทย์ต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องโรคเขตร้อน"

ในช่วงแรกของการก่อตั้ง คณะอายุรศาสตร์เขตร้อนมีสำนักงานชั่วคราวอยู่ที่โรงเรียนเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ในปีต่อมาเมื่อการก่อสร้างตึกเวชกรรมเมืองร้อนที่ถนนราชวิถีแล้วเสร็จ จึงได้ย้ายสำนักงานมาอยู่ ณ สถานที่ปัจจุบัน โดยให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยควบคู่ไปกับการเรียนการสอนและการค้นคว้าวิจัย เริ่มแรกจัดตั้งมีเพียง 5 แผนกวิชา และแผนกธุรการ ได้แก่ แผนกอายุรศาสตร์เขตร้อน แผนกพยาธิโปรโตซัว แผนกปรสิตหนอนพยาธิ แผนกกีฏวิทยาการแพทย์ แผนกสุขวิทยาเขตร้อน และแผนกธุรการ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2505 ได้เปิดอาคารโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนเพื่อให้บริการผู้ป่วย โดยเริ่มจากโรงพยาบาลขนาด 20 เตียง ต่อมาขยายเป็น 100 เตียง จนเป็น 250 เตียงในปัจจุบัน

ในระยะ 7 ปี แรกของการเรียนการสอน คณะอายุรศาสตร์เขตร้อนเปิดรับสมัครแพทย์ชาวไทยเข้าเรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรอายุรศาสตร์เขตร้อนและสุขวิทยา (Graduate Diploma in Tropical Medicine and Hygiene หรือ D.T.M.&H.) ในปี พ.ศ. 2508 มีการก่อตั้งองค์การรัฐมนตรีศึกษาธิการแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization หรือ SEAMEO เรียกชื่อย่อเป็นภาษาไทยว่า องค์การซีมีโอ) ซึ่งเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาหลังปริญญาในสาขาอายุรศาสตร์เขตร้อน ดังนั้นในปี พ.ศ. 2510 รัฐบาลไทยจึงตั้งให้คณะอายุรศาสตร์เขตร้อนเป็นศูนย์อายุรศาสตร์เขตร้อนและสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (The National Center for Tropical Medicine and Public Health) เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนและฝึกอบรมด้านโรคเขตร้อนให้แก่ประเทศสมาชิกขององค์การซีมีโอ ขณะเดียวกันคณะเวชศาสตร์เขตร้อนเป็นที่ตั้งของศูนย์ประสานงานโครงการภูมิภาคเวชศาสตร์เขตร้อนและสาธารณสุขของซีมีโอ (SEAMEO-TROPMED Network) การจัดการเรียนการสอนจึงได้เปลี่ยนไปเป็นระดับนานาชาติ โดยเฉพาะหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตอายุรศาสตร์เขตร้อนและสุขวิทยา (Graduate Diploma in Tropical Medicine and Hygiene หรือ D.T.M.&H.) ได้มีการแก้ไขและปรับปรุงโดยผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์จากสถาบันเวชศาสตร์เขตร้อนแห่งสหราชอาณาจักร (Liverpool School of Tropical Medicine) ทำให้คณะอายุรศาสตร์เขตร้อนเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นโรงเรียนแพทย์เวชศาสตร์เขตร้อนในระดับนานาชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คณะอายุรศาสตร์เขตร้อนได้เปลี่ยนชื่อเป็น "คณะเวชศาสตร์เขตร้อน" ในปี พ.ศ. 2518 และต่อมาในปี พ.ศ. 2536 คณะฯ ได้รับการยกฐานะเป็นศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยเวชศาสตตร์เขตร้อนของซีมีโอ (SEAMEO Regional Center for Tropical Medicine) โดยมีหน้าที่รับผิดชอบสำคัญด้านการสอนในระดับหลังปริญญา ให้แก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในประเทศสมาชิกของซีมีโอ รวม 10 ประเทศ

คณะเวชศาสตร์เขตร้อนมีการพัฒนาการมาเป็นลำดับ จากเดิมที่มีเพียง 5 แผนกวิชา ปัจจุบันประกอบด้วย 11 ภาควิชา 5 สำนักงาน 4 ศูนย์ความเป็นเลิศ รวมทั้งโรงพยาบาล 1 แห่ง นอกจากนี้ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ได้รับมอบหมายจากองค์การระหว่างประเทศให้เป็นที่ตั้งของศูนย์ร่วมมือทางวิชาการ ดังนี้

  1. SEAMEO-TROPMED Network
  2. Mahidol-Oxford Tropical Medicine Research Unit (MORU)
  3. WorldWide Antimalarial Resistance Network (WWARN) - Asia Regional Centre
  4. Mahidol-Osaka Center for Infectious Disease (MOCID)
  5. BIKEN Endowed Department of Dengue Vaccine Development
  6. Malaria Consortium - Regional Office for Asia
  7. Silom Community Clinic at Trop Med (SCC@TropMed)

ปณิธาน

คณะเวชศาสตร์เขตร้อนเป็นสถาบันวิชาชีพชั้นสูงในมหาวิทยาลัย ให้การศึกษาวิชาเวชศาสตร์เขตร้อนแก่บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อสนองความต้องการของสังคมด้านสาธารณสุขของประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มุ่งเสาะแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ในด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานและวิทยาศาสตร์การแพทย์ประยุกต์ รวบรวม เผยแพร่ และถ่ายทอดความรู้เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการในสาขานี้ ในด้านการบริการชุมชน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ทำการตรวจวินิจฉัยรักษาป้องกันโรคเขตร้อนและส่งเสริมสุขอนามัยคณะเวชศาสตร์เขตร้อนมีจุดมุ่งหมายที่จะปลูกฝัง ให้บุคลากรทางการแพทย์มีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาเวชศาสตร์เขตร้อน สามารถนำความรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหาสาธารณสุขของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมชนบท มีความรอบรู้ ความคิดริเริ่ม ใฝ่รู้อยู่เสมอ รอบคอบ รู้จักตนและหน้าที่รับผิดชอบ มีศีลธรรมและเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนร่วม

ใกล้เคียง

คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

แหล่งที่มา

WikiPedia: คณะเวชศาสตร์เขตร้อน_มหาวิทยาลัยมหิดล http://www.tropmedres.ac http://virology.biken.osaka-u.ac.jp/mocid/index.ph... http://www.biken.osaka-u.ac.jp/act/act_konishi_e.p... http://www.malariaconsortium.org http://seameotropmednetwork.org http://www.wwarn.org http://www.tm.mahidol.ac.th http://www.tm.mahidol.ac.th/ http://www.tm.mahidol.ac.th/bstm/programs.html http://www.tm.mahidol.ac.th/eng/news-about.php