ประวัติ ของ คณะเศรษฐศาสตร์_มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย

ในปี พ.ศ. 2481 ได้มีการจัดตั้งวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้นมาภายใต้สังกัดของกระทรวงเกษตราธิการ โดยจัดให้มีการศึกษาตามหลักสูตรอนุปริญญาเกษตรศาสตรบัณฑิต เมื่อจบการศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรศาสตร์แล้วผู้ที่สนใจจะเข้ารับราชการในกรมสหกรณ์ จะต้องเข้ารับการอบรมเพิ่มเติมในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรมสหกรณ์เป็นผู้จัดการอบรมดังกล่าว ณ กรมสหกรณ์ การจัดอบรมนี้ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของคณะสหกรณ์ในเวลาต่อมา

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 ได้มีพระราชบัญญัติยกฐานะของวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดย “คณะสหกรณ์” เป็นหนึ่งในสี่คณะแรกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย คณะเกษตร คณะประมง คณะวนศาสตร์ และคณะสหกรณ์ มีการศึกษาขั้นอนุปริญญา เพื่อให้นิสิตที่สำเร็จการศึกษาจากคณะสหกรณ์ออกไปรับราชการในกรมสหกรณ์ โดยมี คุณพระพิจารณ์พาณิชย์ อดีตอธิบดีกรมสหกรณ์เป็นคณบดีคนแรก[1] และอาจารย์ทนุ ศาตราภัย เป็นเลขานุการคณะฯ ในสมัยเริ่มต้นนั้นคณะสหกรณ์ได้จัดการเรียนการสอนอยู่ในบริเวณอาคารส่วนหนึ่งของกรมสหกรณ์ ซึ่งตั้งอยู่ข้างวังพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ท่าเตียน กรุงเทพมหานคร การศึกษาของคณะสหกรณ์ในสมัยนั้น มีแผนกวิชาอยู่ 4 แผนก ด้วยกันคือ แผนกวิชาเศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ แผนกวิชาสหกรณ์ แผนกวิชาบัญชี และแผนกวิชานิติศาสตร์[2]

ในปี พ.ศ. 2495 ศาสตราจารย์ พันธุม ดิษยมณฑล ย้ายมาจากกรมสหกรณ์มาดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะฯ และเลื่อนเป็นรองคณบดีในเวลาต่อมา ได้เสนอใช้หลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี และ 5 ปี โดยได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย และยังคงใช้สถานที่บริเวณกรมสหกรณ์เป็นที่ศึกษาไปพลางก่อน พร้อมทั้งได้เสนอให้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะเศรษฐศาสตร์สหกรณ์เพื่อให้การศึกษากว้างขวางมากขึ้น และเพื่อให้นิสิตมีตลาดที่จะออกไปทำงานได้มากยิ่งขึ้น แต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและเป็นประธาน ก.พ. ในขณะนั้นประสงค์จะเน้นความสำคัญของสหกรณ์จึงใช้ชื่อว่า “คณะสหกรณ์และเศรษฐศาสตร์” ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2495 ซึ่งประกอบด้วย 8 แผนกวิชา คือ แผนกวิชาสหกรณ์ แผนกวิชาเศรษฐศาสตร์ แผนกวิชาเศรษฐศาสตร์กสิกรรม แผนกวิชาบัญชี แผนกวิชาภาษาต่างประเทศ แผนกวิชาสังคมวิทยา แผนกวิชาเบ็ดเตล็ด[3] จนกระทั่งเดือนพฤษภาคมปี พ.ศ. 2499 จึงได้ย้ายสถานที่ศึกษามาอยู่รวมกันกับคณะอื่น ๆ ที่บางเขน กรุงเทพมหานคร รวมทั้งได้เปลี่ยนชื่อเป็น “คณะเศรษฐศาสตร์สหกรณ์” โดยมี คุณพระพิจารณ์พาณิชย์ ดำรงตำแหน่งคณบดีจนถึงปี พ.ศ. 2501 และยังคงดำรงตำแหน่งคณบดีกิตติมศักดิ์ของคณะฯ จนถึงปี พ.ศ. 2506 ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ พันธุม ดิษยมณฑล ได้เข้าดำรงตำแหน่งคณบดีสืบต่อจากคุณพระพิจารณ์พาณิชย์จนถึงปี พ.ศ. 2518[4] ในช่วงที่ยังใช้ชื่อคณะเศรษฐศาสตร์สหกรณ์นั้น ได้มีการปรับปรุงแผนกวิชาต่าง ๆ เสียใหม่เป็น 6 แผนกวิชา ประกอบด้วย แผนกวิชาสหกรณ์ แผนกวิชาเศรษฐศาสตร์ แผนกวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร แผนกวิชาบัญชีและการธุรกิจ แผนกวิชานิติศาสตร์และสังคมศาสตร์ แผนกวิชาสถิติ

ในปี พ.ศ. 2506 คณะเศรษฐศาสตร์สหกรณ์ ได้รับงบประมาณจำนวน 3 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างตึกเรียนหลังแรกที่บางเขน เป็นตึก 3 ชั้น และได้ขออนุญาตใช้พระนามของ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เป็นชื่อ และได้มีพิธีเปิด “ตึกพิทยาลงกรณ” อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507 โดย ฯพณฯ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานในพิธี

ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 ได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งหนึ่งเป็น “คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ” เพื่อขยายงานการศึกษาให้เหมาะสมกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และให้นิสิตมีโอกาสได้ศึกษาในสาขาวิชาต่าง ๆ ได้มากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อตลาดแรงงานในสาขาวิชาชีพที่ขยายตัวตามความเจริญของบ้านเมือง โดยเพิ่มสาขาวิชาอีกหลายแขนงพร้อมทั้งได้มีการจัดแบ่งส่วนราชการใหม่ในปี พ.ศ. 2511 โดยคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ ประกอบด้วย 6 ภาควิชาคือ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ ภาควิชาสหกรณ์ ภาควิชาบริหารธุรกิจ ภาควิชาบัญชี ภาควิชาการตลาด จนกระทั่งเดือนกันยายน ปี พ.ศ. 2532 ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรได้เปลี่ยนชื่อเป็นภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2535 เนื่องจากคณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มีจำนวนนิสิตและคณาจารย์เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นที่สองรองจากคณะเกษตร พร้อมกันนั้นความต้องการบุคลากรในสาขาวิชาที่เปิดสอนอยู่ในคณะฯ ได้ขยายตัวทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีการแบ่งส่วนราชการออกเป็น 2 คณะ คือ “คณะเศรษฐศาสตร์” และคณะบริหารธุรกิจ ดังเช่นในปัจจุบัน

ใกล้เคียง

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะเศรษฐศาสตร์ ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยทักษิณ