ประวัติ ของ คณะแพทยศาสตร์_มหาวิทยาลัยขอนแก่น

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เริ่มการพิจารณาจัดตั้งขึ้นเมื่อในปี พ.ศ. 2511 ศาสตราจารย์ พิมล กลกิจ ได้นำเสนอโครงการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ สภามหาวิทยาลัยขอนแก่น รับหลักการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ และได้ตั้งคณะกรรมการขึ้น เพื่อพิจารณารายละเอียด วิธีการดำเนินงาน และได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลอิสราเอล ส่งผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ รวม 5 คน มาจัดการทำ Master plan ของศูนย์แพทยศาสตร์

สภามหาวิทยาลัยขอนแก่น มีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับหลักการ และแต่งตั้งกรรมการพิจารณารายละเอียดการจัดตั้งศูนย์แพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2514 และรับหลักการโครงร่างการจัดตั้งศูนย์แพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตามที่เสนอกับให้เสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป ซึ่งกรณีสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติได้เสนอไปแล้วจนได้บรรจุเข้าใน "แผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม ฉบับที่ 3" (พ.ศ. 2515 - 2519) [2]

คณะกรรมการบริหารสภาการศึกษาแห่งชาติ อนุมัติการจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2515 และประกาศจัดตั้งคณะแพทยศาสตร์อย่างเป็นทางการขึ้น เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2515 โดยมีนายแพทย์ กวี ทังสุบุตร รักษาการในตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ และเป็นผู้อำนวยการศูนย์แพทยศาสตร์[3]

คณะแพทยศาสตร์ เริ่มรับนักศึกษาแพทย์รุ่นที่ 1 ในปี พ.ศ. 2517 โดยคัดจากคณะวิทยาศาสตร์ - อักษรศาสตร์ จำนวน 16 คน เพื่อมาเรียนปีที่สองในคณะแพทยศาสตร์ และเปิดรับสมัครรุ่นที่ 2 เป็นจำนวน 44 คน ในปี พ.ศ. 2518 มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบในการรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลนิวซีแลนด์ ในการออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโรงพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเริ่มเปิดบริการผู้ป่วยนอกที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยขอนแก่น ณ อาคารชั่วคราวบริเวณสีฐาน โดยมีรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ นภดล ทองโสภิต ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนแรก[4]

การก่อสร้างโรงพยาบาล

โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยขอนแก่น เริ่มก่อสร้างในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2518 โดยบริษัท Llewelyn-Davies Weeks Forester-Walkers and Bor. แห่งประเทศอังกฤษ เป็นผู้ออกแบบ และบริษัท Kingston Reynolds Thom & Allardice Limited (KRTA) แห่งประเทศนิวซีแลนด์เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง และเป็นที่ปรึกษาการวางแผนผังออกแบบสร้างคลังเลือดกลาง เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินวางศิลาฤกษ์อาคารโรงพยาบาล ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ใช้ชื่อว่าโรงพยาบาลศรีนครินทร์ (SRINAGARIND HOSPITAL) โรงพยาบาลแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2521 และเริ่มเปิดบริการรักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ในปัจจุบัน[5]

งานวางศิลาฤกษ์

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเจิมและทรงพระสุหร่าย พระพุทธชินราชจำลอง ณ พระวิหาร โดยมีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์โดยเสด็จด้วย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้เสด็จมาเบิกพระเนตร และทรงบรรจุพระบรมสารีริกธาตุลงในพระพุทธ ชินราชจำลอง และได้พระราชทานนามว่า "พระพุทธกวี กิตติวรรณ ทังสุบุตร นิมิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น" สถิตย์มังคลากรมุมินทร์ เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2523[6]

การเปิดโรงพยาบาล

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเททองหล่อพระรูปสมเด็จพระราชบิดาและสมเด็จพระศรีนครินทรา ณ บริเวณวัดเบญจมบพิตร โดยใช้เงินที่นักศึกษาแพทย์ และนักศึกษาใน ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้ร่วมกันออกรับบริจาคจากประชาชน โดยการออกขายธงวันมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา ได้รวบรวมเงินได้ประมาณ 300,000 บาท เศษ และได้อัญเชิญพระรูปจำลองสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ขึ้นพระดิษฐานบนแท่นหน้าโรงพยาบาลศรีนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2526[7]

เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2532 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ และได้ทรงแนะนำให้ก่อสร้างอาคารสูงขึ้นกว่าเดิม โดยนายประมวล สภาวสุ ได้สนองต่อพระราชกระแสได้แก้ไขแบบก่อสร้าง อาคารจาก 2 ชั้น เป็น 4 ชั้น และคณะแพทยศาสตร์ ได้ขอพระราชทานนามอาคารหลังนี้ว่า "อาคาร 89 พรรษาสมเด็จย่า" และในอาคารหลังนี้ ทางคณะได้แบ่งหอผู้ป่วย จำนวน 1 หอ เป็นหอผู้ ป่วยสำหรับสงฆ์อาพาธโดยเฉพาะ โดยการประสานงานกับพระอาจารย์ทูล ขิปปัญโญ เจ้าอาวาสวัดป่าบ้านค้อ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี และบรรดาศิษยานุศิษย์ ได้ร่วมกันจัดหากองทุนถวายแก่หลวงปู่เทศก์ เทศรังสี ซึ่งได้บริจาคเงิน 9 ล้านบาท เป็นงบประมาณซื้อครุภัณฑ์ ส่วนเงินที่เหลือให้จัดเป็นกองทุนดำเนินการหอสงฆ์อาพาธต่อไป และหลวงปู่เทศก์ เทศรังสี ยังได้อนุญาตให้ใช้ชื่อหอ สงฆ์นี้ว่า หองสงฆ์อาพาธ พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฎ (หลวงปู่เทศก์ เทศรังสี) นอกจากนี้ ฯพณฯ ประมวล สภาวสุ, ศาสตราจารย์ นายแพทย์ นี รักษ์พลเมือง, คุณวาริน พูนศิริวงศ์, คุณผานิต พูนศิริวงศ์ และคุณหญิง สุเนตร พงษ์โสภณ ได้จัดการแสดงคอนเสริตและหาเงินบริจาคเพื่อเป็นเงิน กองทุน จัดซื้อุปกรณ์และเครื่องมือ ผ่าตัดเป็นเงินอีก 50 ล้านบาท[8]

ใกล้เคียง

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

แหล่งที่มา

WikiPedia: คณะแพทยศาสตร์_มหาวิทยาลัยขอนแก่น http://202.28.95.5/11Department/anatomy/ http://202.28.95.5/11Department/dreh/rehabi.html/ http://202.28.95.5/11Department/ortho/ http://202.28.95.5/11Department/ped/ http://www.smj.ejnal.com/e-journal/journal/index.p... http://ent.mykku.net/ http://radio.mykku.net/ http://gsmis.gs.kku.ac.th/curriculum/program/searc... http://anaes.md.kku.ac.th/ http://biochem.md.kku.ac.th/