สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ของ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี_มหาวิทยาลัยมหิดล

โครงการพัฒนารามาธิบดีสู่คณะแพทยศาสตร์ชั้นนำในเอเชียคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

รายละเอียดของโครงการ

สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์

1. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ถนนพระราม 6 รองรับการให้บริการทางการแพทย์ การศึกษาและการวิจัย มาเป็นเวลากว่า 40 ปี โดยที่คณะแพทยศาสตร์ฯ มีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาตามพันธกิจต่าง ๆ แต่มีข้อจำกัดหลายประการ เช่น มีจำนวนผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นมากแต่สถานที่คับแคบ ทรัพยากรการเรียนรู้ในด้านสถานที่เรียน สถานที่ปฏิบัติการทางคลินิก หอพักนักศึกษา และพื้นที่ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่เพียงพอ รวมทั้งจำเป็นต้องพิจารณาหาโรงพยาบาลฝึกอบรมที่มีลักษณะผู้ป่วยในระดับปฐม ภูมิและทุติยภูมิสำหรับการเรียนการสอน

2. จากการที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้มีโอกาสจัดหน่วยแพทย์เคลื่อน ที่ในโครงการพระดาบสสัญจรของมูลนิธิพระดาบส และโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรของสำนักราชเลขาธิการ ที่จังหวัดสมุทรปราการ พบว่าจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดในภาคตะวันออกของประเทศไทยเป็นเขตชุมชน อุตสาหกรรมและมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ทำให้มีประชาชนหนาแน่น มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย ระบบบริการสาธารณสุขมีแต่โรงพยาบาลขนาดเล็กและขนาดกลาง ไม่มีศูนย์บริการทางการแพทย์ระดับ Excellence Center หรือระดับคณะแพทยศาสตร์ที่จะช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขในพื้นที่ในด้านการศึกษา วิจัยและบริการทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ฯ จึงได้เสนอโครงการพัฒนารามาธิบดีสู่คณะแพทยศาสตร์ชั้นนำในเอเชีย เพื่อพัฒนาวงการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทย อันจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั้งในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการและเขตรอบนอก ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร รวมถึงประชาชนใน 7 จังหวัดภาคตะวันออก โดยโครงการนี้เชื่อมโยงกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ถนนพระราม 6 ซึ่งเน้นในด้านการศึกษาของแพทย์และบุคลากรในระดับหลังปริญญา และการบริการผู้ป่วยซับซ้อนให้มีการพัฒนาอย่างบูรณาการ

3. โครงการฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ ซอยสุขาภิบาล 119 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 291-1-63 ไร่ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

3.1 เพื่อให้คณะแพทยศาสตร์ฯ มีสถานที่เพียงพอในการจัดการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล นักศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย และนักศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และสามารถเพิ่มผลผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ

3.2 เพื่อดำเนินการสร้างโรงพยาบาล ขนาด 400 เตียง สำหรับให้บริการสุขภาพและสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน เพื่อรักษาพยาบาลผู้ป่วยทุกระดับตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิอย่างบูรณาการ ส่งเสริมสุขภาพ ฟื้นฟูและป้องกันโรค โดยเน้นการศึกษาและวิจัยด้านเวชศาสตร์ครอบครัว เวชศาสตร์ฟื้นฟู อาชีวอนามัย ผู้ป่วยสูงอายุ และผู้ป่วยระยะสุดท้าย

3.3 เพื่อเป็นต้นแบบการรักษาที่เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางมุ่งการตั้งเครือข่าย การเรียนรู้และบริการวิชาการให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลอำเภอของภาครัฐ รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชน และขยายการจัดการความรู้เพื่อสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนในภูมิภาคตะวันออก ของประเทศเพื่อเป็นต้นแบบในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนไทย

3.4 เป็นศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และศูนย์บริการวิชาการ สำหรับประชาชนทั่วไป โดยแบ่งเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการศึกษา/วิจัย ศูนย์การแพทย์และเครือข่ายบริการทางการแพทย์ และอุทยานการเรียนรู้และความเป็นอยู่ชุมชนต้นแบบ

4. ระยะเวลาดำเนินโครงการรวมทั้งสิ้น 5 ปี (พ.ศ. 2554 — 2558)

นามพระราชทาน

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ดำเนินโครงการ พัฒนารามาธิบดีสู่คณะแพทยศาสตร์ชั้นนำในเอเชีย หรือโครงการรามาธิบดี-บางพลี เมื่อวันอังคารที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ ปี และได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์สถาบันการแพทย์แห่งใหม่ โดยทางคณะฯได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ ในวันพุธ ที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๕ เวลา ๑๕.๐๐ น. และในวันศุกร์ที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๖พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อสถาบันการแพทย์แห่งใหม่นี้ว่า “สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์” (เป็นพระนามที่ต่อจากรามาธิบดี โดยมีพระนามเต็มดังนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหิตลาธิเบศรรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร) และชื่อภาษาอังกฤษว่า “CHAKRI NARUEBODINDRA MEDICAL INSTITUTE” อีกทั้งทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ อักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎภายในมีอุณาโลม ประดิษฐานที่อาคารสถาบันการแพทย์แห่งใหม่ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งต่อคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

ใกล้เคียง

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น