แนวคิดในเรื่อง ของ คนค่อมแห่งน็อทร์-ดาม

นิยายเรื่องนี้มีชื่อในภาษาฝรั่งเศสว่า น็อทร์-ดามเดอปารี (Notre-Dame de Paris) อันเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของมหาวิหารน็อทร์-ดาม ข้อนี้บ่งบอกว่าวิหารนั้นเองเป็นองค์หลักของเรื่อง เป็นทั้งฉากหลักและเป็นจุดหลักของการดำเนินเรื่อง เหตุการณ์เกือบทั้งหมดเกิดขึ้นที่วิหาร บนหอระฆัง หรือได้รับการชมดูจากตัวละครที่อยู่บนดาดฟ้าวิหาร นิยายนี้แสดงความเป็นไปในศิลปะกอทิก ซึ่งสถาปัตยกรรม กิเลสตัณหา และศาสนาล้วนแต่สุดโต่ง มีการนำเสนอลัทธินิยัตินิยม (determinism) หรือลัทธิความเชื่อที่ว่า การกระทำทุกอย่างของมนุษย์ หรือเหตุการณ์ทั้งหลาย ได้ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว ตลอดจนนำเสนอภาพการจลาจลและปฏิวัติ กับทั้งการต่อสู้ทางชนชั้น[1] การถือวรรณะดังกล่าวปรากฏในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างกาซีโมโด นางแอสเมรัลดา และผู้ลากมากดีในหนังสือ อนึ่ง จะพบว่ามีแนวคิดเรื่องพลวัตทางเพศแทรกอยู่ในนิยายด้วย โดยเฉพาะส่วนที่ว่า นางแอสเมรัลดาเป็นวัตถุทางเพศของตัวละครอื่น ๆ ในลักษณะที่แตกต่างกันไป

ในสมัยนั้น วิหารน็อทร์-ดามร้างการปฏิสังขรณ์นานมากและมีสภาพทรุดโทรม นี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่อูโกต้องการบันทึกเอาไว้ในนิยายของเขา เขาเป็นกังวลว่า ศิลปะกอธิกอย่างวิหารน็อทร์-ดามอันเป็นสัญลักษณ์แห่งกรุงปารีสและแม้กระทั่งของยุโรปทั้งทวีปนั้นจะมลายหายไปเพราะวิวัฒนาการของสื่อสิ่งพิมพ์ เขาสอดใส่แนวความคิดนี้ไปในบรรพ 2 หมวด 2 ตอนที่บาทหลวงฟร็อลโลมองขึ้นไปยังวิหารน็อทร์-ดาม แล้วรำพันว่า "Ceci tuera cela" ("สิ่งนี้จักกลืนสิ่งนั้น", "This will kill that") นอกจากนี้ อูโกยังเขียนว่า "quiconque naissait poète se faisait architecte" ("ใครก็ตามที่เกิดมาเป็นกวีแล้วก็ย่อมผันไปเป็นสถาปนิกด้วยกันทั้งนั้น", "whoever is born a poet becomes an architect") เพื่อย้ำว่า ในขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์ถูกตรวจพิจารณาและห้ามเผยแพร่ได้บ่อย สถาปัตยกรรมจักคงความโดดเด่นล้ำเลิศและสถิตอยู่ในเสรีภาพอันวิเศษหาใดเหมือน[2]