พระราชประวัติ ของ คริสทีอาเนอ_เอเบอร์ฮาร์ดีเนอแห่งบรันเดินบวร์ค-ไบร็อยท์

พระชนม์ชีพช่วงต้น

พระองค์ทรงเป็นพระราชธิดาใน คริสเตียน แอ็นสท์ มาร์คกราฟแห่งบรันเดินบวร์ค-ไบร็อยท์ และพระชายาองค์ที่สอง โซฟี ลูอีเซอ พระราชธิดาของ อีเบอฮารด์ที่ 3 ดยุกแห่งเวือร์ทเทิมแบร์ค พระองค์ถูกตั้งพระนามตามพระราชบิดา คริสเตียน และ พระอัยกา อีเบอฮารด์ ในฐานะพระราชธิดาของมาร์คกราฟแห่งราชรัฐไบร็อยท์ พระองค์ทรงดำรงพระราชอิสริยยศ มาร์คกราฟวีน ตั้งแต่แรกประสูติ พระองค์ทรงมีพี่น้องที่ทรงพระเยาว์กว่าอีกห้าพระองค์ มีเพียงสองพระองค์เท่านั้นที่ทรงเจริญพระชนม์มายุถึงวัยผู้ใหญ่ พระองค์ทรงใกล้ชิดกับพระประยูรญาติในไบร็อยท์ และทรงเสด็จกลับมาเยี่ยมบ่อยๆ หลังจากทรงอภิเษกสมรสแล้ว

การอภิเษกสมรสและรัชทายาท

พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับ ฟรีดิช เอากุสท์ ดยุกแห่งซัคเซิน พระอนุชาของเจ้าผู้คัดเลือกโยฮัน เกออรค์ที่ 4 ในวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1693 เมื่อพระชนม์มายุ 21 ชันษา การอภิเษกสมรสเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเมืองและไม่ค่อยราบรื่นนัก ดยุกเอากุสท์ทรงเห็นว่าพระองค์น่าเบื่อ ขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงเจ็บปวดจากการนอกใจของพระราชสวามี[1]

สามปีต่อมา ในวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1696 ทรงให้กำเนิดพระราชโอรส เจ้าชายฟรีดริช เอากุสท์ ในกรุงเดรสเดิน นี้เป็นการทรงพระครรภ์ครั้งเดียว ตลอดระยะเวลา 34 ปี แห่งการอภิเษกสมรส พระราชโอรสองค์น้อยถูกเลี้ยงดูโดยพระอัยกี เจ้าหญิงอันนา โซฟีแห่งเดนมาร์ก พระองค์และพระสัสสุเข้ากันได้ดี ดังนั้นพระองค์จึงเสด็จไปเยี่ยมพระราชโอรสบ่อยครั้ง

สมเด็จพระราชินีและชายาในเจ้าผู้คัดเลือกแห่งซัคเซิน

พระองค์กลายมาเป็นชายาในเจ้าผู้คัดเลือกเมื่อดยุกเอากุสท์สืบตำแหน่งเป็นเจ้าผู้คัดเลือกต่อจากพระเชษฐาในปี ค.ศ. 1694 ในพิธีเฉลิมฉลองการขึ้นเป็นเจ้าผู้คัดเลือกของดยุกเอากุสท์ เหล่าข้าราชบริพารและเชื้อพระวงศ์ต่างแต่งตัวเป็นเทพและเทพี รวมทั้งพระสนมของพระราชสวามี มาเรีย ออโรร่า ฟอน เคอนิจมารค์ รวมในขบวบพิธีด้วยในฐานะเทพีออโรร่า

ในขณะที่พระองค์รับบทเป็นสาวพรหมจารีที่ติดตามเทพีเวสต้า[1] ใน ค.ศ. 1696 พระองค์ทรงให้กำเนิดพระราชโอรสและรัชทายาทองค์เดียว เจ้าชายฟรีดิช เอากุสท์ นับว่าเป็นการทรงพระครรภ์ครั้งเดียวตลอดระยะเวลาแห่งการอภิเษกสมรส[1]

ในปี ค.ศ. 1697 ดยุกเอากุสท์เข้ารีตเป็นคาทอลิกและได้รับการเลือกให้เป็นพระมหากษัตริย์แห่งเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย ดยุกเอากุสไม่ได้บอกเรื่องเหล่านี้กับพระองค์ การเข้ารีตของดยุกเอากุสท์ก่อให้เกิดคำครหาไปทั่วดินแดนซัคเซิน[1] และพระองค์ก็ถูกบังคับให้รับรองเสรีภาพทางศาสนาของซัคเซิน ตามหลักการแล้ว พระองค์ต้องตามเสด็จดยุกเอากุสไปยังโปแลนด์เพื่อราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งเครือจักรภพ ในนครกรากุฟ และจากฤดูร้อน ค.ศ. 1697 จนถึงวันบรมราชาภิเษกในวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1697 ดยุกเอากุสท์พยายามให้พระองค์เสด็จมาโปแลนด์ อย่างไรก็ตามพระองค์ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมพิธีราชาภิเษก ถึงแม้พระราชบิดาและดยุกเอากุสท์จะพยายามเกลี้ยกล่อมพระองค์มากแค่ไหนก็ตาม[1]ตามเงื่อนไขในกฏบัตรที่ดยุกเอากุสท์ลงนามหลังการขึ้นครองราชย์ ซึ่งมีเงื่อนไขว่าพระองค์ จะต้องทำให้พระนางคริสทีอาเนอ เอเบอร์ฮาร์ดีเนอ มาเข้ารีตนิกายคาทอลิก[1] ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1698 พระเจ้าออกัสตัสทรงเชิญพระนางมายังนครดันท์ซิช

ซึ่งมีชาวโปรเตสแตนท์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากและเป็นจุดที่พระราชบิดาจะมารับพระองค์ พระเจ้าออกัสตัสสัญญาว่าจะให้พระองค์นับถือนิกายโปรเตสแตนต์เช่นเดิม และอนุญาตให้พระองค์มีศิษยาภิบาลโปรเตสแตนต์ประจำพระองค์ ตราบใดที่ความศรัทธานิกายโปรเตสแตนต์ของพระนางถูกเก็บเป็นความลับจากสาธารณะชน[1]

พระเจ้าออกัสตัสยังให้การรับรองว่า พระราชโอรสจะไม่ถูกบังคับให้เข้ารีต โดยเจ้าชายฟรีดิช เอากุสท์ จะอยู่ในความปกครองของพระอัยกี เจ้าหญิงอันนา โซฟีแห่งเดนมาร์ก

พระนางคริสทีอาเนอ เอเบอร์ฮาร์ดีเนอไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอเหล่านั้น และปฏิเสธที่จะตามพระราชบิดาไปยังนครดันท์ซิช.[1] ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1698 พระราชสวามีและพระราชบิดาลงนามในเอกสารที่กรุงวอร์ซอ เพื่อรับรองเสรีภาพทางศาสนาให้แก่พระนางคริสทีอาเนอ เอเบอร์ฮาร์ดีเนอในนครดันท์ซิชและทอร์น พระราชบิดาทรงกลับมายังเดรสเดินแบบลับๆ พร้อมเอกสาร และพยายามให้พระองค์เสด็จไปโปแลนด์ ถึงแม้พระราชบิดาจะพยายามอยู่หลายครั้ง และคำขอร้องจากพระราชสวามี พระนางคริสทีอาเนอ เอเบอร์ฮาร์ดีเนอ ก็ปฏิเสธที่จะเสด็จไปยังโปแลนด์ และพระองค์ก็ไม่เคยเสด็จเยือนเครือจักรภพเลย ตลอดรัชสมัยของพระเจ้าออกัสตัส[1]

ตลอดรัชสมัยของพระองค์ พระเจ้าออกัสตัสทรงเสด็จไป-มาระหว่างโปแลนด์และซัคเซิน ในระหว่างที่พระราชสวามีทรงประทับในซัคเซิน พระนางคริสทีอาเนอ เอเบอร์ฮาร์ดีเนอมักจะปรากฏพระองค์เคียงข้างพระราชสวามี เช่น การประพาสซัคเซินของพระราชสวามีหลังการขึ้นครองราชบัลลังก์โปแลนด์ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1699 และทรงปรากฏพระองค์เคียงข้างกันในโรงละครในกรุงเดรสเดิน แต่ก็บางครั้งเช่นกันที่ทั้งสองพระองค์ไม่ได้พบกันเป็นเวลานาน เช่นช่วงปี ค.ศ. 1700–ค.ศ. 1703 และ ค.ศ. 1714–ค.ศ. 1717 ซึ่งพระเจ้าออกัสตัสทรงใช้เวลาอยู่ในโปแลนด์ อันเนื่องมาจากทรงติดพันการรบใน มหาสงครามเหนือ แต่อย่างไรก็ตามพระเจ้าออกัสตัสจะทรงเสด็จมาเยี่ยมพระองค์เป็นประจำทุกปีที่พรีคเซน ระหว่างทางที่จะทรงเสด็จไปเดรสเดิน

พระนางคริสทีอาเนอ เอเบอร์ฮาร์ดีเนอ ทรงแยกกันอยู่กับพระราชสวามี ทรงเสด็จไปประทับ ณ ปราสาทฮาร์เทนเฟรด ในทอร์เกา ตลอดถดูหนาวและปราสาทส่วนพระองค์ในพรีคเซน ตลอดถดูร้อน ซึ่งอยู่ใกล้ตำหนักของพระสัสสุและพระราชโอรส พระองค์ทรงเสด็จไปเยี่ยมทั้งสองพระองค์บ่อยครั้ง และบางครั้งก็ทรงเสด็จประพาสไปยังไบร็อยท์ และบางครั้งก็เสด็จไปที่เอมม์เพื่อทรงสปา ทรงเสด็จไปยังกรุงเดรสเดินในช่วงเทศกาลและคริสต์มาส พระนางคริสทีอาเนอ เอเบอร์ฮาร์ดีเนอ ยังทรงมีบทบาทในราชสำนักเสมอๆ โดยจะทรงปรากฏพระองค์ในพระราชพิธีสำคัญๆ เช่น การเสด็จเยือนซัคเซินของพระมหากษัตริย์เดนมารก์ ในปี ค.ศ. 1709 และพระราชพิธีอภิเษกสมรสของพระราชโอรสในปี ค.ศ. 1719

หลังจากการที่ทรงแยกกันอยู่กับพระราชสวามี ทำให้พระองค์หันไปสนใจกิจกรรมทางการกุศลและวัฒนธรรมแทน ทรงสนใจและเอาใจใส่ความเป็นอยู่ของเด็กกำพร้า และทรงอุปถัมภ์การศึกษาของพระประยูรญาติหลายพระองค์ เช่น ชาร์ล็อต คริสทีนแห่งบรันสวิก ผู้ซึ่งต่อมาได้อภิเษกสมรสกับ อเล็กเซย์ เพโทรวิช ซาเรวิชแห่งรัสเซีย พระราชโอรสใน จักรพรรดิปีเตอร์มหาราช โซฟี มักดาเลเนอ แห่งบรันเดินบวร์ค-คูล์มบาค ผู้ซึ่งต่อมาได้อภิเษกสมรสกับ มงกุฎราชกุมารแห่งเดนมาร์ก และโซฟี คาโรไลเนอแห่งบรันเดินบวร์ค-คูล์มบาค ผู้ซึ่งต่อมาได้อภิเษกสมรสกับเจ้าชายแห่งโอสไฟร์ลันด์ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงสนใจในการทำธุรกิจอีกด้วย ในปี ค.ศ. 1697 พระองค์ทรงซื้อกิจการโรงงานกระจกจากคอนสแตนติน ฟรีเมล พระองค์โปรดการเล่นไพ่และบิลเลียด ซึ่งก่อให้เกิดภาระหนี้สินเป็นจำนวนมากในปี ค.ศ.1711 อีกทั้งยังทรงสร้างเรือนส้ม และในบั่นปลายพระชนม์ชีพทรงวางแผนที่จะสร้างคอนแวนต์โปรเตสแตนต์สำหรับสตรีชนชั้นสูง

พระนางคริสทีอาเนอ เอเบอร์ฮาร์ดีเนอ และพระสัสสุ เจ้าหญิงอันนา โซฟีแห่งเดนมาร์ก ทรงได้รับความนิยมอย่างสูงในซัคเซิน ในฐานะสัญลักษณ์แห่งนิกายโปรแตสแตนท์และผู้ปกป้องแซกโซนีจากการครอบงำของเครือจักรภพโปแลนด์-ลิทัวเนีย ด้วยเหตุนี้นักเทศน์โปรแตสแตนต์จึงมองภาพลักษณ์ของพระองค์ในฐานะคริสต์ชนโปรเตสแตนต์ผู้เศร้าโศก ผู้ถูกคุมขังอยู่ปราสาทของพระองค์เอง ซึ่งสะท้อนออกมาชัดเจนยิ่งขึ้นหลังจากที่พระราชโอรสเสด็จไปยังโปแลนด์และเข้ารีตในนิกายคาทอลิก[1]

พระนางคริสทีอาเนอ เอเบอร์ฮาร์ดีเนอ สิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุ 55 ชันษา และมีพิธีฝังพระบรมศพในโบสถ์ประจำเขตที่พรีคเซนในวันที่ 6 กันยายน พระราชสวามีและพระราชโอรสไม่ได้เสด็จมาร่วมพิธี โยฮัน เซบัสทีอัน บัค ได้ประพันธ์คันตาตาเพื่อระลึกถึงพระองค์ ออกแสดงครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1727 ที่โบสถ์ประจำ มหาวิทยาลัยไลพ์ซิช

ใกล้เคียง

คริสทีอัน ซีเกอ คริสท็อฟ เบาม์การ์ทเนอร์ คริสท็อฟ วิลลีบัลท์ กลุค คริสทีอาเนอ เอเบอร์ฮาร์ดีเนอแห่งบรันเดินบวร์ค-ไบร็อยท์ คริสทีน นักข่าวสาว ฉาวช็อคโลก คริสทีอัน ฟุคส์ คริสท็อฟ วัลทซ์ คริสท็อฟ ดีนท์เซินโฮเฟอร์ คริสทีอัน ฟรีดริช เชินไบน์ คริสทีอัน ด็อพเพลอร์