ประวัติ ของ คลองแม่ข่า

คลองแม่ข่า หรือ น้ำแม่ข่า เป็นคลองโบราณที่ปรากฏใน ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ที่อธิบายถึงชัยภูมิ 7 ประการ และแหล่งน้ำ 4 แห่ง อันเป็นเหตุผลที่พญามังรายทรงเลือกที่จะสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1839[1] โดยชัยภูมิ 7 ประการ และแหล่งน้ำ 4 แห่ง มีดังนี้[2]

ชัยภูมิ 7 ประการ
  1. กวางเผือกแม่ลูกสองตัวมาจากป่าใหญ่ทางทิศเหนือมาอยู่ชัยภูมิที่นี้
  2. ฟานเผือกสองตัวแม่ลูกมาอยู่ชัยภูมิที่นี้สู้กับหมา หมาพ่ายหนี
  3. มีหนูเผือกกับบริวาร 4 ตัวออกมาแต่ชัยภูมิที่นี้
  4. ภูมิประเทศตะวันตกสูงลาดเทมาตะวันออก น้ำจากดอยสุเทพไหลลงมาเลี้ยงตัวเมือง
  5. น้ำแม่ข่าไหลมาโอบตัวเมืองเชียงใหม่แล้วไหลไปเวียงกุมกาม
  6. มีหนองน้ำใหญ่อยู่ทางทิศอีสานไว้ให้สัตว์กิน
  7. แม่น้ำปิงไหลผ่านด้านตะวันออกของเมืองเชียงใหม่

แหล่งน้ำ 4 แห่ง
  1. ดอยสุเทพ เป็นแหล่งกำเนิดลำห้วยหลายสายได้แก่ ห้วยแก้ว ห้วยช่างเคี่ยน น้ำแม่ท่าช้าง และมีห้วยอื่น ๆ ไหลลงสู่เมืองทำให้เชียงใหม่มีน้ำใช้ตลอดปี
  2. น้ำแม่ข่า
  3. หนองบัว
  4. แม่น้ำปิง

และยังปรากฏใน พื้นเมืองเชียงใหม่ อีก ความว่า[3]

"...อยู่ที่นี่ หันน้ำตกแต่อุชุปัตตาดอยสุเทพ มาเป็นแม่น้ำไหลไปหนเหนือ แล้วไหลดะไปหนวันออก แล้วไหลไปใต้ แล้วไหลไปวันตกเกี้ยวเวียงกุมกาม แม่น้ำนี้เป็นนครคุณเกี้ยวเมืองอันนี้..."

คลองแม่ข่าไหลจากมาจากอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงเมืองเชียงใหม่ ในอดีตคลองแม่ข่าทำหน้าที่ทั้งเส้นทางสัญจร เป็นคูเมืองชั้นนอกเพราะคลองนั้นโอบรอบเวียง และยังเป็นทางระบายน้ำ มวลน้ำบางส่วนจะไหลไปรวมกันที่หนองบัวเจ็ดกอ (บ้างเรียก หนองบัว, หนองเขียว หรือหนองป่าแพ่ง) ซึ่งเป็นหนองน้ำโบราณที่มีมาตั้งแต่สร้างเมืองเชียงใหม่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง ก่อนไหลไปสู่แม่น้ำปิง[2] แต่ปัจจุบันหนองน้ำดังกล่าวสิ้นสภาพไปแล้วและถูกถนนอัษฎาธรตัดผ่านเพื่อไปบรรจบกับถนนซุปเปอร์ไฮเวย์เชียงใหม่-ลำปาง[2] ในอดีตหนองน้ำนี้จะทำหน้าที่รองรับมวลน้ำมหาศาลซึ่งถือเป็นการป้องกันอุทกภัย อันแสดงให้เห็นถึงความสามารถด้านการจัดการน้ำของชาวเชียงใหม่ในอดีต[2] และชาวเชียงใหม่ในอดีตกล่าวว่าหากปีใดหนองบัวไม่มีน้ำจะเกิดทุกข์ เป็นอาทิ[2] คลองแม่ข่าจะทำหน้าที่ส่งน้ำเลี้ยงคูเมืองชั้นนอก และยังรับน้ำจากลำห้วยต่าง ๆ ที่ไหลลงสู่เมืองเชียงใหม่ไม่ให้ไหลลงแม่น้ำปิงไปเสียก่อนเพื่อกระจายน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคแก่บรรดาชุมชนต่าง ๆ ที่เรียงรายไปตามลำคลอง[4]

ในอดีตคลองแม่ข่ามีความอุดมสมบูรณ์ น้ำใสสะอาด ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์จากน้ำจากคลอง รวมทั้งสามารถจับปลาและปูที่อยู่ในคลองมาบริโภคได้[3][5] แต่ด้วยความที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การศึกษา และวัฒนธรรมของภาคเหนือ ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของเมืองเชียงใหม่อย่างไร้ระบบในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา มีชุมชนแออัดผุดขึ้นรวมทั้งเกิดการบุกรุกคลองแม่ข่าทำให้มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น คลองมีขนาดแคบลงกว่าแต่ก่อน และทรุดโทรมอย่างยิ่ง[3][6] ทั้งมีการทิ้งน้ำเสียจากทั้งจากสถานประกอบการต่าง ๆ จนถึงระดับครัวเรือนที่ขาดระบบบำบัดน้ำเสีย จนทำให้คลองแม่ข่าเน่าเสียมายาวนานจนเป็นปัญหาเรื้อรังที่แก้ไม่ตก และใช้งบประมาณในการทำความสะอาดคลองหลายล้านบาทในแต่ละปี[7] จากการศึกษาคุณภาพน้ำพบว่าน้ำในคลองนั้นเสียอยู่ในระดับที่ 5 คือคุณภาพเสียสูงสุด ไม่สามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้อีก มีอ็อกซิเจนต่ำกว่ามาตรฐาน ทั้งพบสารปนเปื้อน อาทิ อีโคไลน์ ไนเตรต และฟอสฟอรัสสูงกว่าปรกติ ทำให้น้ำมีกลิ่นเหม็นและมีสีขุ่นดำ[6]

ต้นปี พ.ศ. 2560 ทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ที่ร่วมมือกับทุกภาคส่วน วางแผนที่จะฟื้นฟูคลองแม่ข่าซึ่งเป็นคลองสายประวัติศาสตร์นี้ โดยใช้งบประมาณ 50 ล้านบาทสำหรับการขุดลอกคลอง กำจัดวัชพืช ติดตั้งเครื่องเติมอากาศ ใช้พืชน้ำบัดบัดน้ำเสีย และจ้างคนดูแลคลองด้วย อันเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ยูเนสโกพิจารณาเมืองเชียงใหม่เป็นมรดกโลก[8] หลายฝ่ายมองว่าทั้งคลองแม่ข่าและลำคูไหวซึ่งเป็นคลองสาขาของคลองแม่ข่าสายหนึ่ง ถือเป็นมรดกที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เชียงใหม่ที่ควรได้รับการพัฒนาสำหรับเป็นจุดขายการท่องเที่ยวได้[9]

แหล่งที่มา

WikiPedia: คลองแม่ข่า http://www.compasscm.com/viewissue.php?id=208&lang... http://www.komchadluek.net/news/local/198669 http://cendru.eng.cmu.ac.th/flooding/?name=/chapte... http://cendru.eng.cmu.ac.th/maekha/ http://cendru.eng.cmu.ac.th/maekha/front-page http://library.cmu.ac.th/ntic/picturelanna/detail_... http://www.manager.co.th/local/viewnews.aspx?NewsI... http://www.manager.co.th/local/viewnews.aspx?NewsI... http://www.matichon.co.th/news/424847 https://dreamaction.co/thesis-mae-kha-canal-from-d...