ประวัติ ของ คากูเระคิริชิตัง

ประวัติตอนต้น

ประเทศญี่ปุ่นได้รับการเผยแผ่ศาสนาจากชาวสเปนและโปรตุเกส ที่มีการติดต่อค้าขายกันมายาวนานตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 16 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฟรันซิสโก คาเบียร์ได้เข้าไปเผยแผ่ศาสนาในปี ค.ศ. 1549 มีชาวญี่ปุ่นรับเชื่อถึง 200 คน และหลังจากนั้นเกือบหนึ่งศตวรรษชาวคริสต์ในญี่ปุ่นก็ทวีจำนวนขึ้นถึง 300,000 คน ซึ่งพ่อค้าต่างชาติล้วนมีสัมพันธ์อันดีกับหมอสอนศาสนาสร้างความไม่พอใจแก่เหล่าชนชั้นปกครองญี่ปุ่น[4] จนกระทั่งมีการขับไล่หมอสอนศาสนาออกจากประเทศในศตวรรษที่ 17 ส่วนคริสตชนที่ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนาก็หลบหนีออกนอกประเทศ ส่วนที่ยังอยู่ก็ถูกบังคับให้ละทิ้งศาสนา บ้างก็ถูกเผาทั้งเป็น บ้างก็ถูกตรึงกางเขน รีดนาทาเร้น หรือลงโทษอย่างทารุณต่าง ๆ นานา ซึ่งศาสนิกชนที่ยอมตายนี้อาจมีถึงหลักพันถึงหลักแสนคน[5] และทำให้มิชชันนารีไม่ได้เข้าไปเผยแผ่ศาสนาในญี่ปุ่นยาวนานถึง 200 ปี[6]

การผสานความเชื่อ

ชาวคริสต์ที่ยังหลงเหลือในญี่ปุ่นถูกเรียกว่า "คริสตังลับ" เพราะชนกลุ่มนี้ยังคงนับถือศาสนาคริสต์อย่างลับ ๆ โดยจะปฏิบัติศาสนกิจอยู่ในห้องลับภายในบ้านของตนเอง เมื่อเวลาผ่านไป รูปเคารพของบรรดานักบุญในคริสต์ศาสนาได้ถูกแปลงรูปให้คล้ายคลึงกับพระพุทธรูปและรูปของพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระแม่มารีย์ที่ถูกพรางให้เหมือนเจ้าแม่กวนอิม (ญี่ปุ่น: マリア観音code: ja is deprecated  โรมาจิMaria-Kannon)[4][7] ผู้สวดมนต์ยังได้ดัดแปลงคำสวดมนต์ให้ฟังคล้ายกับบทสวดมนต์ในศาสนาพุทธ[8] แต่ยังคงรักษารูปคำเดิมที่ยังไม่แปลจากภาษาละติน ภาษาโปรตุเกส และภาษาสเปนปะปนอยู่ ข้อความในคัมภีร์ไบเบิลถูกถ่ายทอดในลักษณะของมุขปาฐะเนื่องจากหวาดเกรงว่าทางการจะริบพระคัมภีร์ฉบับตีพิมพ์ไปเสีย การดำรงอยู่ของชุมชนชาวคริสต์ต้องขึ้นอยู่กับผู้นำที่เป็นที่พึงพาได้ เนื่องจากในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 นั้นมีการกวาดล้างนักบวชคาทอลิกอย่างกว้างขวาง[1] อย่างเช่นบทสวดวันทามารีย์จะมีความแตกต่างจากภาษาละตินดังนี้[3]

ละติน: Ave Maria gratia plena dominus tecum benedicta...code: la is deprecated ญี่ปุ่น: Ame Maria karassa binno domisu terikobintsu...code: ja is deprecated

ในบางกรณี ชุมชนดังกล่าวได้หลีกเลี่ยงการสั่งสอนตามแนวทางเดิมในคริสต์ศาสนา พวกเขาได้หลงลืมความหมายของการภาวนาไปเสีย และศาสนาของพวกเขาได้กลายรูปเป็นลัทธิบูชาบรรพบุรุษไปแทน เนื่องจากบรรพบุรุษของพวกเขาเหล่านั้นได้เสียชีวิตในการกวาดล้างทางศาสนาและกลายเป็นมรณสักขีในศาสนาคริสต์ โดยมีคากูเระคิริชิตังคนหนึ่งกล่าวว่า "เราเอ่ยนามพระแม่มารีย์หลายครั้ง แต่เรามิได้สวดอ้อนวอนท่าน และเราก็ไม่ได้อ้างเอ่ยต่อพระเจ้าองค์ใดเป็นการเฉพาะ หากเป็นบรรพบุรุษของเรามากกว่า"[5] ทั้งยังถือธรรมเนียมปฏิบัติอย่างชาวพุทธและชินโตปะปนด้วยเพื่ออำพราง[8] โดยนักบวชคากูเระคิริชิตังรูปหนึ่งกล่าวว่า "เมื่อก่อนมันอาจจะเป็นแค่การอำพราง…แต่ตอนนี้ผมเชื่อในพระเจ้าองค์อื่น ๆ ด้วย"[5] และกล่าวอีกว่า "ผมมีแท่นบูชาพระพุทธรูปและศาลเจ้าชินโตในบ้านผมด้วย"[3] ทั้งพวกเขายังร่วมงานประเพณีของชินโตและพุทธอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ[6]

ชาวคริสตังลับปรากฏอีกครั้งเมื่อเบอร์นาร์ด เพอตีฌ็อง (Bernard Petitjean) นักบวชคาทอลิกชาวฝรั่งเศส ได้ทำการก่อสร้างโบสถ์โออูระในนางาซากิเมื่อ ค.ศ. 1865 ชาวคริสต์บางส่วนได้ออกมาปฏิบัติศาสนกิจอย่างเปิดเผย และหลังปี ค.ศ. 1873 ซึ่งเป็นยุคฟื้นฟูเมจิได้ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา คริสตังลับถูกเรียกว่า "มูกาชิคิริชิตัง" (ญี่ปุ่น: 昔キリシタンcode: ja is deprecated  โรมาจิMukashi Kirishitan) หรือ "คริสตังโบราณ" ซึ่งไม่เรียกเพียงแต่ชาวคริสต์พื้นเมืองแถบคีวชูเท่านั้น หากแต่รวมชาวคริสต์ชนบทจากภูมิภาคอื่น ๆ ในญี่ปุ่นด้วย[1]

ชาวคริสต์ส่วนใหญ่ยอมรับแนวทางการปฏิบัติคริสต์ศาสนาแบบใหม่เหล่านี้เลิกหลบซ่อนตัวหลังจากที่เสรีภาพทางศาสนา และได้เข้าร่วมกับศาสนจักรคาทอลิก หลังประกาศว่าแนวทางเดิมที่ตนนับถือมานั้นไม่ใช่แนวทางดั้งเดิมที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามยังคงมีชาวคริสต์บางส่วนที่ตัดสินใจไม่เข้าร่วมกับศาสนจักรคาทอลิก คนกลุ่มหลังนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ "ฮานาเระคิริชิตัง" (ญี่ปุ่น: 離れキリシタンcode: ja is deprecated  โรมาจิHanare Kirishitan) หรือ "คริสตังแปลกแยก"[1] ซึ่งปัจจุบันศาสนิกชนแปลกแยกนี้ พบที่ย่านอูรากามิในเมืองนางาซากิ และหมู่เกาะโกโต[2]

ฮานาเระคิริชิตังในปัจจุบัน

ตามธรรมเนียมของฮานาเระคิริชิตัง เด็กผู้ชายจะเรียนรู้การสวดภาวนาและการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาจากครอบครัว โดยมีลักษณะสืบทอดศาสนาแบบพระสงฆ์ศาสนาพุทธของญี่ปุ่นคือเป็นแบบปุโรหิต แต่ละบ้านจะมีการสวดไม่เหมือนกันซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้มาตรฐานบทสวดทั่วไปเลย และนักบวชขาดความรู้ด้านบทสวดเช่น พระบิดา (Our Father), วันทามารีย์ (Hail Mary), วันทาพระราชินี (the Salve Regina) และบทสวดพื้นฐานอื่น ๆ[6] รวมทั้งไม่เข้าใจบทสวดที่พวกเขาท่องกันมาเลยแม้แต่น้อยและไม่มีทีท่าว่าจะสนใจด้วย โดยพวกเขาสนใจด้านจิตวิญญาณมากกว่าประวัติศาสตร์หรือเทววิทยา[6] พวกเขาจะเก็บเหรียญหรือภาพแขวนรูปนักบุญไว้ในตู้และจะนำออกมาเฉพาะในวันพิเศษ พิธีกรรมสารภาพบาปหรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่กระทำโดยบาทหลวงจะขาดหายไป แล้วแทนที่ด้วยการบูชาบรรพบุรุษตามธรรมเนียมพุทธ และพิธีกรรมทำให้บริสุทธิ์แบบชินโต[9] หากทายาทของพวกเขาเติบโตขึ้นอาจไม่สนใจ หรือย้ายออกจากแหล่งเดิมจนหมด กอปรกับอัตราการเกิดต่ำของญี่ปุ่น ทำให้ฮานาเระคิริชิตังลดจำนวนลงและขาดคนรับช่วงต่อ[5]

ขณะที่ฮานาเระคิริชิตังกำลังจะหมดไป ชาวเกาะอิกิตสึกิที่รัฐบาลญี่ปุ่นมองข้ามมาตลอดได้แสดงตัวตนในปี ค.ศ. 1980 โดยพวกเขาการแสดงออกด้วยการปฏิบัติศาสนกิจ การแสดงละครผ่านนิทานพื้นบ้าน หรือการสร้างรูปปั้นทางศาสนาที่ก่อนหน้านี้พวกเขากระทำกันอย่างหลบซ่อนมาตลอด

คริสตัล วีลัน (Christal Whelan) นักมานุษยวิทยาได้พบกลุ่มฮานาเระคิริชิตังในหมู่เกาะโกโต ซึ่งศาสนิกชนเหล่านี้สืบเชื้อสายมาจากคากูเระคิริชิตังที่ลี้ภัยมาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ ปัจจุบันในหมู่เกาะนี้เหลือนักบวชเพียงสองคนซึ่งทั้งสองมีอายุกว่า 90 ปีและไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ขณะที่สัตบุรุษส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและไม่มีนักบวชสืบทอดพระศาสนาแนวทางนี้อีก[10] ปัจจุบันประชากรบนเกาะอิกิตสึกิมีอยู่ 7,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และมีประชากรลดลงเรื่อย ๆ ชิเงโอะ นากาโซโนะ ภัณฑารักษ์บนเกาะอิกิตสึกิระบุว่าคนที่ยังเป็นคากูเระคิริชิตังมีอยู่ 500 คน จากทั้งหมดหกกลุ่มบนเกาะ ซึ่งมีศาสนิกชนราว 2,000 คน จากทั้ง 20 กลุ่ม เมื่อสองทศวรรษก่อนหน้านี้[9]

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: คากูเระคิริชิตัง http://www.abc.net.au/foreign/content/2007/s199569... http://www.bravomusicinc.com/Artists/ito.html http://www.hirado-net.com/english/history.html#mix... http://rekishi.jkn21.com/ http://query.nytimes.com/gst/fullpage.html?res=9B0... http://www.onmarkproductions.com/html/maria-kannon... http://www.reuters.com/article/us-japan-christians... http://www.samsloan.com/japan-ch.htm http://www.time.com/time/magazine/article/0,9171,9... http://www.wasbe.com/en/news/review200109_jp.html