การใช้ประโยชน์ ของ คาวทอง

  • ทั้งต้น รสฉุน เย็นจัด ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ ฝีบวมอักเสบ ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไอ บิด โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หูชั้นกลางอักเสบ และริดสีดวงทวาร ถ้ารับประทานมากเกินไปจะทำให้หายใจสั้นและถี่ อาจเป็นอันตรายได้
  • ต้นสด ใช้ภายนอก พอกฝี บวมอักเสบ บาดแผล โรคผิวหนัง ดากออก งูพิษกัด และช่วยทำให้กระดูกเชื่อมติดกันเร็วขึ้น
  • ใบสด ผิงไฟพอนิ่ม ใช้พอกเนื้องอกต่างๆ ใบสดใช้ป้องกันปลาเน่าเสีย ต้มน้ำรดต้นฝ้าย ข้าวสาลี และข้าว ป้องกันพืชเป็นโรคเหี่ยวเฉาตาย พืชนี้ใช้รับประทานเป็นยาระบาย ขับพยาธิ แก้ไข้ อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย ออกหัด
  • ดอก ใช้ขับทารกที่ตายในท้อง

ใช้พืชนี้ต้มรับประทานติดต่อกันเป็นประจำ แก้โรคน้ำกัดเท้า อาจรับประทานน้ำต้มจากพืชอย่างเดียวหรือผสมวิตามินเอและวิตามินรวมด้วย ได้มีการขอจดทะเบียนสิทธิบัตรตำรับยานี้ นอกจากนี้มีผู้ขอจดทะเบียนสิทธิบัตรเครื่องสำอางโดยใช้น้ำมันจากผักคาวทองเป็นครีม ทาแก้ผิวหนังหยาบกร้าน และใช้ป้องกันผิวหนังแตกเป็นร่อง

ในเนปาลใช้ลำต้นใต้ดิน ในตำรับยาที่เกี่ยวกับโรคของสตรี ใช้ทั้งต้นเป็นยาช่วยย่อย บรรเทาอาการอักเสบ และขับระดู ใบใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง แก้บิด และริดสีดวงทวาร ในตำรายาจีนเรียกอวี่ซิงเฉ่า (ภาษาจีนกลาง) หรือ ฮื่อแชเฉ่า (ภาษาจีนแต้จิ๋ว) ลำต้นใช้เป็นยาช่วยเพิ่มภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย ช่วยต้านแบคทีเรีย[1]

ปริมาณที่ใช้

ทั้งต้น แห้ง 15-30 กรัม (สด 30-60 กรัม) ต้มน้ำดื่ม ก่อนต้มให้แช่น้ำไว้สัก 1-3 นาที ต้มให้เดือดประมาณ 5 นาที (ถ้าใช้ร่วมกับยาอื่น ให้ต้มยาอื่นให้เดือดก่อนจึงใส่ยานี้ต้มให้เดือด ดื่ม) ใช้สด ตำคั้นเอาน้ำดื่ม ใช้ภายนอก ต้มเอาน้ำชะล้างหรือตำพอก

สารเคมีที่พบ

พบทั้งต้น มีโปแตสเซียมคลอไรด์ โปแตสเซียมซัลเฟต และ cordarine

อาหาร

ในอินเดียใช้ทั้งใบหรือทั้งต้นเป็นผักต้มกิน