คำมอกหลวง

คำมอกหลวง หรือ คำมอกช้าง ยางมอกใหญ่ ชื่อวิทยาศาสตร์: Gardinia sootepensis ภาษากะเหรี่ยงเรียก เพาะกะ เป็นไม้ในสกุลพุด วงศ์ Rubiaceae เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบในช่วงสั้นๆ ก่อนออกดอก มียางสีเหลือง กิ่งอ่อนมีขนสั้นปกคลุม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ใบเหนียวและสากคาย ใบเดี่ยว มีหูใบลักษณะเป็นปลอกหุ้มกิ่ง หลุดร่วงง่าย เห็นรอยแผลชัดเจน ดอกเดี่ยว ดอกเมื่อเริ่มบานเป็นสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองภายหลัง กลีบเลี้ยงด้านนอกมีขนสีขาว ใกล้โรยมีกลิ่นหอมแรง ออกดอกเดือนมีนาคม – เมษายน ผลมีเมล็ดเดียว สีเขียว เมล็ดแบน คำมอกหลวงกระจายพันธุ์ในป่าดิบแล้งและป่าเต็งรังทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง พบครั้งแรกที่ดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ โดยหมอคาร์ ชาวไอริช ชื่อสปีชีส์ตั้งตามดอยสุเทพ ใช้เป็นไม้ประดับ ชาวกะเหรี่ยงนำผลไปรับประทาน