รูปแบบการถ่ายทอดคำยืม ของ คำยืม

คำยืมในภาษาของผู้รับมีความแตกต่างในสามประเด็นจากภาษาของผู้ให้ ได้แก่การเขียน การอ่าน และความหมาย

ในแง่ของการเขียน เห็นได้ชัดจากภาษาต่าง ๆ ที่ใช้ชุดอักษรและอักขรวิธีไม่เหมือนกัน เช่น ภาษาอังกฤษใช้อักษรละติน แต่ภาษาไทยใช้อักษรไทย และบางครั้งก็เขียนแผลงไปจากรูปแบบที่ควรจะเป็น อาจจะด้วยหลักการหรือความนิยมก็ตาม เช่น คำบาลีปริวรรตว่า รฏฺ อฏฺ วุฑฺฒิ ในขณะที่คำไทยเขียนว่า รัฐ อัฐิ วุฒิ เป็นต้น อีกตัวอย่างหนึ่ง คำอังกฤษว่า encyclopedia ยืมมาจากคำละติน encyclopaedia ซึ่งก็ยืมมาจากคำกรีก enkýklios paideía อีกชั้นหนึ่ง

ในแง่ของการอ่าน นอกจากชุดอักษรที่ไม่เหมือนกันดังที่กล่าวแล้ว เสียงอ่านของตัวอักษรแต่ละตัวก็มีฐานกรณ์ต่างกัน และรูปอักษรแทนเสียงก็มีไม่เพียงพอต่อการถ่ายทอดให้ออกมาได้ครบถ้วน เสียงอ่านจึงแปรเปลี่ยนไปตามภาษาของผู้รับ ตัวอย่าง คำอังกฤษ volleyball ในขณะที่คำไทยเขียนว่า วอลเลย์บอล คำญี่ปุ่นเขียนว่า バレーボール (บะเรโบรุ) จะเห็นว่าเสียง v ของภาษาอังกฤษไม่มีในภาษาไทยและภาษาญี่ปุ่น ภาษาไทยจึงใช้ ว ซึ่งเป็นเสียงที่ใกล้เคียงที่สุด และภาษาญี่ปุ่นนิยมใช้คะนะกลุ่ม "บ" มากกว่า ถึงแม้ว่าจะสามารถใช้ ヴォ แทนเสียง vo ได้

ในแง่ของความหมาย คำที่ยืมมาใช้อาจมีความหมายต่างไปจากเดิม หรือแม้แต่คำหลายคำที่มีรากศัพท์เดียวกัน ความหมายก็อาจต่างออกไปโดยสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น คำบาลีและคำสันสกฤตว่า วร (วะระ) หมายถึง ดียิ่ง ประเสริฐ ในขณะที่คำไทยใช้ว่า วร (วอระ, วะระ) ตามความหมายเดิม, พร (พอน) หมายถึง คำแสดงความปรารถนาให้ประสบสิ่งที่เป็นสิริมงคล สิ่งที่ขอเลือกเอาตามประสงค์, พระ หมายถึง คำใช้แทนชื่อเรียกภิกษุสงฆ์ หรือใช้ประกอบหน้าคำอื่นแสดงความยกย่อง อีกตัวอย่างหนึ่ง คำเขมรว่า ត្រួត (ตฺรัวต) แปลว่า ควบคุม ดูแล ปกครอง ในขณะที่คำไทยใช้ว่า ตรวจ หมายถึง พิจารณาดูความเรียบร้อย พิจารณาว่าถูกหรือผิด, ตำรวจ หมายถึง เจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ตรวจตราและรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เป็นต้น ความหมายที่เปลี่ยนไปนี้ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมของผู้ใช้ภาษา