คิงคาจู
คิงคาจู

คิงคาจู

คิงคาจู หรือ หมีน้ำผึ้ง (อังกฤษ: Kinkajou, Honey bear; ชื่อวิทยาศาสตร์: Potos flavus) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับสัตว์กินเนื้อชนิดหนึ่งในวงศ์แร็กคูน (Procyonidae) มีความใกล้ชิดทางชีวภาพกับโอลิงโก โคอาที แร็กคูน ริงเทล และแคโคมิสเซิล นับเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Potos ที่ยังสืบเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน แบ่งออกได้เป็น 7 ชนิดย่อย (ดูในตาราง[2])คิงคาจูเป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 60 เซนติเมตร มีขนสั้นและหนานุ่มสีน้ำผึ้งทองหรือสีน้ำตาล มีหัวและใบหูกลม ใบหน้าและดวงตากลมโตเหมือนแมว น้ำหนักตัวประมาณ 4-10 ปอนด์ ออกหากินในเวลากลางคืน ใช้เสียงในการสื่อสาร ปกติหากินและอาศัยอยู่ตามยอดไม้สูง ชอบกินผลไม้ เกสรดอกไม้ น้ำผึ้ง และน้ำต้อยจากดอกไม้ มีลิ้นที่ยาวมากถึง 7 นิ้ว ใช้สำหรับดูดกินน้ำผึ้งหรือน้ำต้อยของดอกไม้ และก็สามารถกินสัตว์เล็ก ๆ เป็นอาหารได้อีกด้วย[3] สามารถใช้หางและเท้าเกาะเกี่ยวและทรงตัวบนต้นไม้และกิ่งไม้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะส่วนเท้าสามารถหมุนกลับด้านได้ถึง 180 องศา อีกทั้งยังมีต่อมกลิ่นพิเศษใกล้ปาก, คอ และพื้นท้อง ซึ่งจะใช้สำหรับแสดงอาณาเขตครอบครอง มีความยาวหางเท่ากับลำตัว[3] โดยที่ชื่อวิทยาศาสตร์ของคิงคาจูนั้น มีความหมายว่า "นักดื่มสีทอง" อันหมายถึงสีขนและพฤติกรรมการกินอาหาร[4]นอกจากเป็นสัตว์ที่หากินในเวลากลางคืน จึงมีดวงตาที่กลมโตสำหรับใช้ในการรวมแสงเพื่อการมองเห็นในที่มืด ปกติในเวลากลางวันจะซึมเซาหรือหลับนอน แต่ในเวลากลางคืนจะตื่นตัว พบกระจายพันธุ์ในป่าทึบ และป่าหลากหลายประเภท เช่น ป่าเสื่อมโทรม พบได้ทั้งพื้นที่ราบและพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล[1] ของทวีปอเมริกากลางและภาคเหนือของทวีปอเมริกาใต้ เป็นสัตว์ที่ออกลูกเป็นตัว ครั้งละตัว นาน ๆ ครั้งจึงจะมีเป็นฝาแฝด มีระยะเวลาตั้งท้องนาน 4 เดือน ลูกอ่อนใช้เวลานาน 2 สัปดาห์จึงจะลืมตา คิงคาจูเป็นสัตว์ที่รักสันโดษมักอาศัยอยู่ตัวเดียว เมื่อจะออกลูก จะออกในโพรงไม้[4][5] แต่ก็เป็นสัตว์ที่ดุร้ายเมื่อมีภัยใกล้ตัว[3]คิงคาจูถูกล่าจากชาวพื้นเมืองเพื่อนำขนและหนังไปผลิตเป็นกระเป๋าและอานม้า รวมทั้งบริโภคเป็นอาหาร[3] อีกทั้งยังนิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงสำหรับผู้ที่นิยมเลี้ยงสัตว์แปลก ๆ โดยมีบันทึกว่ามีอายุสูงสุดในที่เลี้ยงได้ 23 ปี ขณะที่มีวงจรชีวิตนานที่สุดถึง 41 ปี[6]ในประเทศไทย คิงคาจูมีจัดแสดงเพียง 3 ที่เท่านั้นในสวนสัตว์ คือ สวนสัตว์ดุสิต สวนสัตว์นครราชสีมา และเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี สำหรับเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีมีคิงคาจูมากถึง 11 ตัว และมีการแพร่ขยายพันธุ์ในที่เลี้ยงด้วย[5]