ประวัติ ของ ค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทย

ประเทศไทยได้กำหนดให้มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นครั้งแรกตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ได้กำหนดให้กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ[1] โดยมีคณะกรรมการค่าจ้างเพื่อพิจารณาและกำหนด โดยคณะกรรมการประกอบด้วยประธานและกรรมการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้ง และได้กำหนดให้ค่าจ้างขั้นต่ำต้องสามารถใช้ยังชีพแต่ลูกจ้างและคนในครอบครัว 2 คนได้อย่างปกติ[2] ต่อมาได้ปรับนิยามของค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นใหม่ โดยพิจารณาลดเป็นเงินที่ลูกจ้างคนเดียวสามารถควรจะได้รับและดำรงชีพได้[3] และคงใช้นิยามนี้จนถึงปัจจุบัน[4]

ในช่วงปี พ.ศ. 2516 - 2536 กระทรวงมหาดไทย โดยกองแรงงานเป็นผู้ดำเนินการหลักในการพิจารณาและประกาศบังคับใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กระทั่งมีการจัดตั้งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมขึ้นมาในปี พ.ศ. 2536 (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงแรงงาน) กองแรงงาน กระทรวงมหาดไทยจึงโอนย้ายไปยังกระทรวงดังกล่าว ทำให้คณะกรรมการค่าจ้างจึงสังกัดกับกระทรวงนี้จนถึงปัจจุบัน โดยในช่วงปี พ.ศ. 2536 - 2551 กำหนดในรูปของประกาศกระทรวง และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นไปกำหนดเป็นประกาศของคณะกรรมการค่าจ้าง โดยมีการออกประกาศกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำไปแล้ว 48 ฉบับ[5]