พระราชดำริในการจัดการพระบรมศพ ของ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงบันทึกความทรงจำไว้ตอนหนึ่งว่า

"เหมือนจะทรงทราบดีว่าพระชนม์จะไม่ยืนยาวต่อไป จึงได้ทรงสั่งไว้ว่า ถ้าพระองค์สวรรคตเมื่อไร ให้ทรงพระภูษาแดง และทรงสะพักผ้าขาวผืนเดียวแล้วเอาลงหีบ แล้วจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพโดยเร็ว ไม่ต้องมีพิธีเกียรติยศอย่างใดทั้งสิ้น และขอให้เอาซอไวโอลินไปเล่นเพลงที่พระองค์โปรดเพียงคันเดียวในขณะที่กำลังถวายพระเพลิง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้ทรงจัดการตามพระราชดำรัสสั่งทุกประการ"

ตามหนังสือพระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้ทรงบันทึกว่า คณะดนตรีได้บรรเลงเพลงสากลแบบคลาสสิก "เมนเดลโซนไวโอลินคอนแชร์โต" (Mendelssohn Violin Concerto) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเป็นพิเศษ เจ้าหน้าที่กดปุ่มให้หีบพระบรมศพเคลื่อนที่ช้า ๆ หายเข้าไปในผนัง แล้วการถวายพระเพลิงด้วยเตาไฟฟ้าก็ได้เริ่มขึ้น

หลังจากนั้น พระบรมอัฐิได้เก็บรักษาไว้ ณ ประเทศอังกฤษ ไม่ได้อัญเชิญกลับประเทศไทยเพราะมีพระราชดำรัสสั่งไว้ว่า ถ้ารัฐบาลขณะนั้น (เข้าใจว่าจะหมายถึงสมัย พ.ศ. ๒๔๗๗) ยังมีอำนาจอยู่ตราบใด ก็ไม่ให้นำพระบรมอัฐิกลับมาเมืองไทยเป็นอันขาด

อย่างไรก็ตาม เมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้ประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษได้ ๑๕ ปี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ซึ่งทรงเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ทรงดำเนินการที่จะให้รัฐบาลอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับมาประเทศไทย ดังปรากฏในหนังสือถึง จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ตอนหนึ่งว่า

"......ด้วยพระบรมอัฐิสมเด็จพระบุรพกษัตริยาธิราชในพระบรมราชวงศ์จักรีได้มีประดิษฐานอยู่ในพระบรมมหาราชวังแล้วแทบทุกรัชกาล คงขาดแต่พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเสด็จสวรรคตในต่างประเทศ ทุกวันนี้ในงานพระราชพิธีต้องอัญเชิญพระบรมอัฐิออก บัดนี้ น่าจะถึงเวลาและเป็นการสมควรแล้วที่จะดำริจัดการให้อัญเชิญพระบรมอัฐิเข้ามาประดิษฐานเสียตามพระราชประเพณีที่มีมา อันพระบรมอัฐิในรัชกาลที่ ๗ นั้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ทรงรักษาไว้และพระองค์ท่านเองก็ได้เสด็จประทับรอนแรมอยู่ในต่างประเทศมาแล้วเป็นเวลาช้านาน ถ้าจะจัดการอัญเชิญเสด็จกลับเข้ามาประทับเสียในประเทศนี้ และทูลขอให้อัญเชิญพระบรมอัฐิในรัชกาลที่ ๗ เข้ามาด้วย ก็จะดีหาน้อยไม่...."

ในที่สุด รัฐบาลได้มีหนังสือกราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ลงวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๑ มีความว่า

"...คณะรัฐมนตรีได้ปรึกษาพิจารณาเรื่องนี้ตลอดแล้วเห็นว่า เหตุผลเกี่ยวด้วยพระราชประเพณีตามข้อปรารภของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการสำคัญประการหนึ่ง และนอกจากนี้ รัฐบาลและประชาราษฎรยังคงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตลอดมา พระราชกรณียกิจที่พระองค์ท่านได้ประกอบไว้ ได้อำนวยคุณประโยชน์แก่ประชาราษฎรและประเทศไทยเป็นอเนกประการ อาทิ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นการชั่วคราว และพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกาศใช้เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ อันเป็นรากฐานของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

ฉะนั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจึงได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ดำเนินการถวายพระเกียรติ โดยขออัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเข้าไปประดิษฐานไว้ในพระบรมมหาราชวัง เสมอด้วยพระบรมอัฐิสมเด็จพระบุรพกษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมราชวงศ์จักรี ให้ต้องตามพระราชประเพณีตามความปรารถนาของรัฐบาลและคณะประชาราษฎร

อนึ่ง เฉพาะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีความเห็นสอดคล้องต้องกันกับคำปรารภของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในโอกาสเดียวกันนี้ ขอพระราชทานกราบบังคมทูลอัญเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จกลับคืนสู่ประเทศไทย โดยรัฐบาลจักได้ถวายพระเกียรติตามพระราชประเพณีสืบไป...."

ใกล้เคียง

งานพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว งานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 93 งานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 96 งานกระจกสี งานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 94 งามพรรณ เวชชาชีวะ งานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 60 งานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 65 งานประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 62