ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย ของ งานสีเขียว

ปัจจุบันในประเทศไทย บรรษัทและภาคธุรกิจหลายแห่งได้หันมาให้ความสนใจในเรื่องงานสีเขียวมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมขนาดใหญ่จำพวกอุตสาหกรรมผลิตกระดาษ หรือ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เป็นต้น โดยบริษัทเหล่านี้ได้หันมาแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการสร้างงานสีเขียว ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้ทดแทน หรือ การตั้งโรงงานที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในบริเวณใกล้เคียงให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างไรก็ตาม มีบ่อยครั้งที่กิจกรรมเหล่านี้ได้ถูกกระทำขึ้นเพื่อเป็น “พิธีกรรม” อย่างหนึ่งในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่ามีเป้าหมายเพื่อสร้างงานสีเขียวอย่างจริงจัง ยกตัวอย่างเช่น การจัดกิจกรรมเก็บขยะริมชายทะเลของบริษัทที่อาจไม่ได้มีที่ตั้งโรงงานติดชายทะเล หรือ ไม่ได้ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวข้องกับทะเล เป็นต้น ฉะนั้น กระแสงานสีเขียวในประเทศไทยแม้จะมีพลังที่ทำให้บรรดาธุรกิจต่างๆต้องหันมาพิจารณาผลกระทบ และความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่บางครั้งก็อาจมิได้ช่วยแก้ไขสภาพปัญหาได้อย่างจริงจัง และยั่งยืนได้เสมอไป

นโยบายของรัฐบาลไทยที่มุ่งส่งเสริมอาชีพสีเขียว เช่น สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีนโยบายแรงงานที่พยายามสร้างมาตรฐานการจ้างงาน และระบบประกันสวัสดิการทางสังคมให้กับแรงงาน และสร้างความร่วมมือในการคุ้มครองแรงงานที่ต้องไปทำงานในต่างประเทศ ต่อมาในสมัยรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้มีนโยบายที่ส่งเสริมอาชีพสีเขียวเช่นกัน คือ การสร้างช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลด้านแรงงาน การคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยของแรงงาน พัฒนาแรงงานที่ไร้ฝีมือและกึ่งฝีมือ (non-skilled labor and semi-skilled labor) ทั้งในด้านภาครัฐและเอกชน และเตรียมพร้อมสำหรับการเคลื่อนไหวของแรงงานหลังการเปิดประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558[3]