พฤติกรรมและความร้ายแรงของพิษ ของ งูแมวเซา

มีพฤติกรรมชอบอยู่ตามที่ราบแห้ง ๆ เชิงเขาที่เป็นดินปนทราย ตามที่ดอน หรือซ่อนตัวในซอกหิน โพรงดิน ใต้กอหญ้าใหญ่ ๆ ไม่ชอบย้ายที่อยู่บ่อย ๆ ปกติไม่เลื้อยขึ้นต้นไม้ ออกหากินไม่ไกลจากที่อยู่ เป็นงูที่มีความเชื่องช้าไม่ปราดเปรียว มีอุปนิสัยดุ เมื่อถูกรบกวนจะส่งเสียงขู่ ชอบความเย็น แต่ไม่ชอบน้ำ มักออกหากินในเวลากลางคืน แต่ในสถานที่ที่มีความเย็น ก็อาจออกหากินในเวลากลางวันด้วย สำหรับในประเทศไทย พบได้ชุกชุมที่สุดคือแถบจังหวัดในภาคกลางและภาคตะวันออก[3] กินอาหารได้แก่ สัตว์ขนาดเล็กจำพวกหนูหรือสัตว์เลื้อยคลานที่มีขนาดเล็กชนิดต่าง ๆ เป็นงูที่ออกลูกเป็นตัว ครั้งละประมาณ 20–30 ตัว (สูงสุด 63 ตัว) โดยจะผสมพันธุ์ช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม และไปออกลูกช่วงฤดูร้อน ลูกงูแรกเกิดมีน้ำหนัก 7.2–14.4 กรัม และความยาวโดยเฉลี่ย 24–30 เซนติเมตร[4]

เป็นงูที่มีพิษต่อผลการแข็งตัวของเลือด Factor X และ Factor V โดยตรง โดยจะไปกระตุ้น prothrombin เป็น thrombin ซึ่งทำให้เกิดการสลายไฟบริโนเจนเป็นไฟบรินในกระแสเลือด จึงทำให้เกิดเลือดออกง่าย เนื่องจากองค์ประกอบในการแข็งตัวของเลือด ถูกใช้หมดไป นอกจากนี้แล้วพิษของงูแมวเซายังมีผลต่อไต ทำให้เกิดอาการไตวายได้ และยังมีฤทธิ์ในการทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงโดยตรง[5] โดยอาการของผู้ที่ถูกกัดจะแสดงออกดังนี้ คือ มีอาการปวดและมีอาการบวมมาก อาการบวมเกิดเกิดขึ้นได้ภายใน 2–3 นาทีภายหลังถูกกัด มักจะมีรอยเขี้ยว 2 จุดซึ่งมีเลือดไหลออกตลอดเวลา และบริเวณรอบแผลจะมีสีคล้ำบริเวณโดยรอบเขี้ยวจะบวมอย่างชัดเจนภายใน 15-20 นาที และเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งบริเวณที่ถูกกัดบวมหมดภายในเวลา 12–24 ชั่วโมง และอาจเริ่มพองและมีเลือดออก ผู้ที่ได้รับพิษมากจะมีอาการของเลือดออกง่ายภายในเวลา 2–3 ชั่วโมง เช่น เลือดออกเป็นจ้ำ ๆ บริเวณผิวหนัง เลือดออกตามไรฟัน ไอมีเสมหะปนเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ ถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด เลือดออกจะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งความดันโลหิตต่ำ ไตวายและเสียชีวิตลงในที่สุด [6]