คดีความ ของ จตุพร_พรหมพันธุ์

จตุพรตกเป็นจำเลย ในคดีความต่าง ๆ หลายคดี ดังต่อไปนี้[18]

คดีความที่ยังไม่สิ้นสุด

  • คดีก่อการร้าย และฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ระบุไว้ ในประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ลงวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หมายเลขดำที่ อ.2542/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์
  • คดีดักฟังโทรศัพท์ หมายเลขดำที่ อ.177/2551 กรณีที่จำเลยทั้งสามคือจตุพร, จักรภพ เพ็ญแข และณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ร่วมกันนำข้อความการสนทนาทางโทรศัพท์ ระหว่าง พลตำรวจตรี พีรพันธุ์ เปรมภูติ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.; ยศและตำแหน่งขณะนั้น) กับวิรัช ชินวินิจกุล อดีตเลขานุการศาลฎีกา และไพโรจน์ นวานุช ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ประจำสำนักประธานศาลฎีกาขณะนั้น ไปเปิดบนเวทีปราศรัยของแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ
    • ศาลพิพากษาเมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2557 จำคุก 2 ปี ปรับ 4หมื่น รอลงอาญา 2 ปี[19]อยู่ระหว่างฎีกา
  • คดีหมายเลขดำที่ อ.4176/2552 ที่อภิสิทธิ์เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องจตุพรเป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และ 332 กรณีเมื่อวันที่ 11 และ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2552 จตุพรกล่าวปราศรัย ในการชุมนุมของ นปช.และเสื้อแดง ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและทำเนียบรัฐบาล กล่าวหาว่าโจทก์ยึดพระราชอำนาจ ด้วยการเพิกเฉยไม่ดำเนินการใดๆ ต่อฎีกาพระราชทานอภัยโทษแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งทาง นปช.รวบรวมรายชื่อคนเสื้อแดงขึ้นทูลเกล้าฯ และกล่าวหาโจทก์เป็นฆาตกร อาชญากร สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหาร ใช้อาวุธปืนสงครามสังหารประชาชน และสร้างสถานการณ์จลาจล ที่บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ย่านนางเลิ้ง และถนนเพชรบุรีซอย 5 และซอย 7 ช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 รวมถึงเหตุการณ์จลาจล ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนที่เมืองพัทยา
    • ศาลอาญาพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2558 ให้ลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 2 ปีโดยไม่รอการลงโทษ[20]
    • ศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2559 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น[21]
  • คดีหมายเลขดำ อ.855/2553 ที่สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุพรเป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 กรณีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2552 จตุพรแถลงข่าวพาดพิงโจทก์ว่า สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เกณฑ์คนต่างด้าวให้ได้ 5,000 คนมาสวมเสื้อสีแดง แฝงตัวร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552 โดยวางแผนให้คนกลุ่มดังกล่าว ก่อความปั่นป่วนเพื่อป้ายสีคนเสื้อแดง
    • ศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2556 ยืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง
  • คดีหมายเลขดำ อ.771/2554 ที่ พลตรี จำลอง ศรีเมือง กับพวกรวม 4 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุพร และสื่อมวลชนรวม 4 คนเป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
    • ศาลอุทธรณ์พิพาษาเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2556 ยืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง[22]
  • คดีหมายเลขดำ ด.2635/2551 (ศาลอาญากรุงเทพใต้) นางทีปสุรางค์ ภรรยาของจรัญ ภักดีธนากุล เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุพรกับพวก และสื่อมวลชนรวม 4 คน ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 กรณีเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2551 เวลาประมาณ 22:00-23:00 น. จำเลยที่ 1 ถึง 3 ซึ่งดำเนินรายการความจริงวันนี้ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย แสดงความคิดเห็นโดยนำคำพิพากษา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ คำพิพากษาศาลจังหวัดสงขลา ในคดีเกี่ยวกับที่ดิน มาอ่านออกอากาศ แล้วอ้างว่าเป็นประเด็นเปรียบเทียบ กับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งโจทก์เห็นว่าเจตนาบิดเบือนข้อเท็จจริง
  • คดีหมายเลขดำ อ.4977/2555 ที่วัชระ เพชรทอง เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุพร, วีระกานต์ หรือวีระ มุสิกพงศ์ และณัฐวุฒิ เป็นจำเลยที่ 1 ถึง 3 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และความผิดว่าด้วยพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 10 ล้านบาท[23]
    • ศาลอาญาพิพากษาเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2558 ให้จำคุกจำเลยทั้ง 3 คนละ 1 ปี ปรับ คนละ 5หมื่นบาท รอลงอาญาไว้ 2 ปี และชดใช้เงินจำนวน 6 แสนบาท[24]
  • คดีหมายเลขดำ อ.2799/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุพร และศราวุธ หลงเส็ง ผู้ร่วมชุมนุม เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยมีอาวุธและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรค 2, 215, 216 ซึ่งยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557

คดีความที่สิ้นสุดแล้ว

  • คดีหมายเลขดำ อ.3982/2553 ที่รสนา โตสิตระกูล เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุพรเป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 กรณีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2553 จตุพรให้สัมภาษณ์ทำนองว่า โจทก์เป็นตัวตั้งตัวตีพยายามโยกคดี ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ซึ่งบุกยึดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง ให้ไปอยู่ในความรับผิดชอบ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)[25]คดีนี้สิ้นสุดแล้ว เนื่องจากรสนามิได้ฎีกาคำสั่งศาล คดีจึงจบที่ศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้อง
  • คดีซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย ของสำนักงานกรมพระธรรมนูญ กองทัพบก ให้เดินทางไปแจ้งความดำเนินคดี ที่สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2554 ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือรัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112[26] ทว่าต่อมา กรมสอบสวนคดีพิเศษสั่งให้ถอนฟ้อง[27]
  • คดีที่เมธี อมรวุฒิกุล ฟ้องความผิดฐานหมิ่นประมาท[28]คดีจบที่ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง
  • คดีหมายเลขดำ อ.1008/2553 ที่อภิสิทธิ์เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องจตุพรเป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328, 326 และ 332 กรณีเมื่อวันที่ 29 มกราคม ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 จตุพรกล่าวปราศรัยต่อกลุ่มคนเสื้อแดง และประชาชนที่รับชมผ่านโทรทัศน์ช่องพีเพิลแชนเนล ใส่ความโจทก์ทำนองว่าสั่งฆ่าประชาชน และหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหารศาลฎีกาสั่งจำคุก 6 เดือน โทษจำคุกรอลงอาญา 2 ปี[29]
  • คดีหมายเลขดำ อ.404/2552 ที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องจตุพรเป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา กรณีเมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2552 จตุพรแถลงข่าวที่พรรคเพื่อไทย กล่าวหาโจทก์กระทำการมิบังควร ตีตนเสมอพระเจ้าแผ่นดิน โดยนั่งเก้าอี้เทียบเสมอพระเจ้าแผ่นดิน ในการถวายรายงานราชการ
    • ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 57 ให้จำคุก นายจตุพร 6 เดือน ปรับ 5 หมื่นบาท ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ต่อมา นายจตุพร ได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง
    • ศาลฎีกาพิพากษาเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2559 ให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้น[30]
  • คดีหมายเลขดำที่ อ.1962/2552 ที่อภิสิทธิ์เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องจตุพรเป็นจำเลย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา กรณีเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 จตุพรขึ้นปราศรัย บนเวที นปช.ที่วัดไผ่เขียวทำนองว่า โจทก์ไม่ได้นั่งอยู่ในรถประจำตำแหน่ง ในช่วงเหตุการณ์ที่กลุ่มคนเสื้อแดงปิดล้อมกระทรวงมหาดไทย และเข้ากลุ้มรุมต่อรถดังกล่าว และยังกล่าวหาว่าโจทก์ เป็นฆาตกรมือเปื้อนเลือด สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหาร ใช้อาวุธปืนสงครามยิงประชาชนคนเสื้อแดง ในเหตุการณ์ชุมนุมช่วงเดือน เมษายน พ.ศ. 2552 ศาลฎีกามีคำสั่งจำคุก 1 ปี สำนวนตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 [31]

แหล่งที่มา

WikiPedia: จตุพร_พรหมพันธุ์ http://www.atnnonline.com/index.php?option=com_con... http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics... http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/700744 http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/784970 http://www.kodmhai.com/m2/m2-2/m2-1351-1354.html http://news.mthai.com/politics-news/79909.html http://www.naewna.com/politic/202992 http://www.suthichaiyoon.com/detail/9930 http://www.asoke.info/09Communication/DharmaPublic... http://www.komchadluek.net/detail/20111130/116541/...