ช่วงดำรงตำแหน่งหฺวังโฮ่ว ของ จักรพรรดินีลฺหวี่

แม้จักรพรรดิฮั่นเกาจู่จะมีชัยเหนือเซี่ยง อฺวี่ แล้ว ดินแดนบางส่วนในจักรวรรดิยังกระด้างกระเดื่อง พระองค์จำต้องเสด็จไปปราบปรามให้ราบคาบ จึงตั้งพระนางลฺหวี่ และหลิว อิ๋ง ให้รั้งพระนครฉางอาน (長安) และว่าราชการไปพลาง โดยมีเซียว เหอ (蕭何) ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดี (丞相) และขุนนางคนอื่น ๆ คอยช่วยเหลือ พระนางลฺหวี่บริหารราชกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับขุนนางหลายคนขึ้นอย่างรวดเร็ว ขุนนางชื่นชมความสามารถของพระนาง แต่ก็หวาดกลัวความอำมหิตของพระนางเช่นกัน

การตายของหาน ซิ่น และเผิง เยฺว่

เป็นที่รู้กันว่า พระนางลฺหวี่มีบทบาทในการตายของหาน ซิ่น (韓信) และเผิง เยฺว่ (彭越) สองนายทัพคนสำคัญของจักรพรรดิฮั่นเกาจู่

ใน 196 ปีก่อนคริสตกาล ฮั่นเกาจู่นำทัพออกจากพระนครฉางอานไปปราบกบฏเฉิน ซี (陳豨) ในจฺวี้ลู่ (鉅鹿) ซึ่งปัจจุบัน คือ เทศมณฑลเผิงเซียง (平鄉縣) ในเหอเป่ย์ (河北) หนึ่งปีก่อนหน้านี้ เฉิน ซี ได้พบหาน ซิ่น ก่อนเดินทางจากฉางอานไปจฺวี้ลู่ จึงเกิดข่าวว่า หาน ซิ่น มีส่วนในการกบฏ พระนางลฺหวี่สงสัยในตัวหาน ซิ่น และเมื่อปรึกษากับอัครมหาเสนาบดีเซียว เหอ แล้ว จึงมีพระเสาวนีย์เรียกหาน ซิ่น มาเข้าเฝ้า ณ วังฉางเล่อ (長樂宮) เมื่อหาน ซิ่น มาแล้ว พระนางรับสั่งให้จับกุมเขาไปทรมานจนตาย แล้วสั่งประหารชีวิตครอบครัวเขาทั้งโคตร

ขณะปราบกบฏเฉิน ซี นั้น ฮั่นเกาจู่รับสั่งให้เผิง เยฺว่ นำกำลังหนุนมาช่วยพระองค์ แต่เผิง เยฺว่ ทูลว่า ตนป่วย และส่งลูกน้องมาช่วยพระองค์แทน เมื่อฮั่นเกาจู่ปราบกบฏสำเร็จ เกิดข่าวลือว่า เผิง เยฺว่ เป็นกบฏด้วย จึงรับสั่งให้จับกุมเขา ถอดยศเขาลงเป็นสามัญชน แล้วอัปเปหิเขาไปยังเทศมณฑลชิงอี (青衣縣) ปัจจุบันเป็นท้องที่ของหย่าอาน (雅安) ในซื่อชวน ขณะเดินทางไปชิงอี เผิง เยฺว่ ได้พบพระนางลฺหวี่ และทูลขอพระนางให้ช่วยเขาพ้นโทษ เขาจะกลับไปบ้านเกิดที่ฉางอี้ (昌邑) ซึ่งปัจจุบัน ค่อ เทศมณฑลจินเซียง (金鄉縣) ในชานตง (山东) พระนางแสร้งตกลง แล้วให้นำเขาไปยังลั่วหยาง (洛阳) ณ ที่นั้น เขาถูกกล่าวหาอย่างเลื่อนลอยว่า เป็นกบฏ และถูกประหารชีวิต พระนางให้สับศพเขาเป็นชิ้น ๆ และให้ประหารครอบครัวเขาทั้งโคตรเช่นกัน

การสืบราชสมบัติ

ปลายรัชสมัย จักรพรรดิฮั่นเกาจู่เริ่มโปรดปรานสนมวัยเยาว์นางหนึ่ง คือ สนมชี ผู้มีโอรสองค์หนึ่งให้แก่พระองค์ คือ หลิว หรูอี้ พระองค์จึงถอดจาง อ้าว (張敖) พระราชบุตรเขยของพระองค์เอง (สวามีขององค์หญิงหลู่-ยฺเหวียน พระธิดาของพระองค์กับพระนางลฺหวี่) ออกจากตำแหน่ง"จ้าวหวัง" (赵王) แล้วตั้งหลิว หรูอี้ เป็นจ้าวหวังแทนเมื่อ 198 ปีก่อนคริสตกาล โดยให้เหตุผลว่า จาง อ้าว "ใจเสาะและอ่อนแอ" เกินไป ขณะที่หลิว หรูอี้ มีลักษณะหลายอย่างที่คล้ายคลึงพระองค์

เนื่องจากพระนางลฺหวี่มีสายสัมพันธ์แข็งแกร่งกับหมู่ขุนนาง การตัดสินพระทัยดังกล่าวของฮั่นเกาจู่จึงถูกขุนนางคัดค้าน แต่ฮั่นเกาจู่มิทรงฟัง และมีแนวโน้มว่า จะถอดหลิว อิ่ง จากตำแหน่งหฺวังไท่จื่อด้วย พระนางลฺหวี่จึงเรียกจาง เหลียง (張良) มาช่วยรับมือ จาง เหลียง เห็นว่า ฮั่นเกาจู่กำลังเปลี่ยนแปลงการสืบราชสมบัติตามพระทัย จึงเชิญกลุ่มบัณฑิตสันโดษที่เรียก "สี่ปราชญ์แห่งเขาชาง" (商山四皓) มาช่วยกราบทูลให้ฮั่นเกาจู่เปลี่ยนพระทัย สี่ปราชญ์รับรองต่อพระพักตร์ว่า จะอนุเคราะห์หลิว อิ่ง ในภายภาคหน้า ถ้าหลิว อิ่ง ได้ขึ้นครองราชย์ ทำให้ฮั่นเกาจู่ดีพระทัย และตรัสแก่สนมชีว่า "ข้าอยากเปลี่ยนเขา แต่เขามีคนหนุนถึงสี่คน ก็เหมือนเขาติดปีก ยากจะโยกย้ายได้ มเหสีลฺหวี่มาเหนือจริง ๆ" (我欲易之,彼四人輔之,羽翼已成,難動矣。呂后真而主矣!)[1] หลิว อิ่ง จึงได้เป็นหฺวังไท่จื่อต่อไป

ใกล้เคียง

จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 จักรพันธ์ ครบุรีธีรโชติ จักรพรรดิโชวะ จักรพรรดิเมจิ จักรพรรดิ จักรพรรดิยงเจิ้ง จักรพรรดิคังซี จักรพรรดิบ๋าว ดั่ย จักรพรรดิเปดรูที่ 1 แห่งบราซิล จักรพรรดินีฟาราห์ ปาห์ลาวี