ประวัติศาสตร์ ของ จังหวัดนอร์ทฮอลแลนด์

เรื่องราวการเกิดขึ้นของจังหวัดนอร์ทฮอลแลนด์ มีจุดเริ่มต้นจากยุคที่จักรพรรดินโปเลียนได้เข้ายึดครองเนเธอร์แลนด์และปกครองในช่วง ค.ศ. 1795 ถึง 1813 ซึ่งเป็นช่วงที่เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบจังหวัดของชาวดัตช์อย่างมาก ในปี ค.ศ. 1795 นั้น ได้มีการล้มล้างระบบเดิมทิ้งไปและสถาปนาสาธารณรัฐปัตตาเวียขึ้น ประกอบไปด้วย 8 จังหวัด (département) ตามระบบการปกครองของฝรั่งเศส แต่ละจังหวัดมีจำนวนประชากรเท่าๆกัน อาณาจักรฮอลแลนด์จึงถูกแบ่งออกเป็น 5 จังหวัด ได้แก่ เทกเซล เดลฟท์ อัมสเติล สเกลต์เอ็นเมิซ และไรน์ ต่อมามีการรวมสามจังหวัดแรกเข้าด้วยกันเป็นจังหวัดฮอลแลนด์เมื่อปี ค.ศ. 1801

ต่อมา ในปี ค.ศ. 1807 มีการจัดระบบของจังหวัดฮอลแลนด์ใหม่ โดยแบ่งเป็นสองจังหวัดย่อย ได้แก่ อัมสเทิลลันด์ (นอร์ทฮอลแลนด์ในปัจจุบัน) และมาสลันด์ (เซาท์ฮอลแลนด์ในปัจจุบัน) แต่ระบบนี้อยู่ได้ไม่นาน ได้มีการผนวกรวมเนเธอร์แลนด์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิฝรั่งเศส อัมสเทิลลันด์ถูกผนวกรวมกับยูเทรกต์กลายเป็นจังหวัด "เซาเดอร์เซ" (ฝรั่งเศส: Zuyderzée) และมาสลันด์เปลี่ยนชื่อเป็น "โมนเดน ฟอน เดอ มาส" (ฝรั่งเศส: Bouches-de-la-Meuse)

แต่เมื่อจักรพรรดินโปเลียนพ่ายแพ้ในการรบเมื่อปี ค.ศ. 1813 ระบบการบริหารยังคงเดิม จนกระทั่งปีต่อมา เนเธอร์แลนด์ได้มีรัฐธรรมนูญใหม่ มีการจัดระบบระเบียบจังหวัดและภูมิภาคใหม่ทั้งประเทศ จังหวัดเซาเดอร์เซและโมนเดน ฟอน เดอ มาสได้ถูกผนวกรวมเข้าเป็นจังหวัด"ฮอลแลนด์" แต่ยังมีผู้ว่าราชการจังหวัด 2 คน คนหนึ่งรับผิดชอบจังหวัดอัมสเทิลลันด์เดิม และอีกคนรับผิดชอบจังหวัดมาสลันด์เดิม ดังนั้น แม้จะมีการรวมจังหวัด แต่พื้นที่ทั้งสองส่วนยังมีระบบที่แตกต่างกันอย่างมาก ทำให้แนวคิดการแบ่งฮอลแลนด์ยังคงมีอยู่

เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1840 จังหวัดฮอลแลนด์จึงถูกแบ่งเป็นสองจังหวัดอีกครั้ง มีชื่อว่า "นอร์ทฮอลแลนด์"และ"เซาท์ฮอลแลนด์" โดยชาวเมืองอัมสเตอร์ดัมมีส่วนสำคัญในการผลักดันการแยกจังหวัดนี้ หลังจากนั้น ผืนดินฮาร์เลมเมอร์เมร์ได้ถือกำเนิดขึ้นจากการผันน้ำทะเลออก ทำให้นอร์ทฮอลแลนด์มีขนาดใหญ่ขึ้น ก่อนที่เกาะและพื้นที่บางส่วนจะถูกโอนไปยังจังหวัดข้างเคียง ในการปรับระบบราชการใหม่กลางศตวรรษที่ 20

ใกล้เคียง

จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดของประเทศไทย จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดชลบุรี จังหวัดนนทบุรี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอุดรธานี