ประวัติ ของ จังหวัดพระประแดง

เดิมจังหวัดพระประแดงเป็นเมืองที่สร้างขึ้นใหม่ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์บริเวณลัดต้นโพธิ์ จากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อพัฒนาเป็นเมืองหน้าด่านชายทะเล โดยแบ่งพื้นที่กรุงเทพมหานครกับเมืองสมุทรปราการบางส่วนมาตั้งเมืองใหม่[2] มีการสร้างป้อมปราการและกำแพงเมืองโดยใช้แรงงานจีน[3] แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2358 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงพระราชทานนามเมืองว่าเมืองนครเขื่อนขันธ์[4] ลูกหลานชาวจีนยังอาศัยอยู่ย่านตำบลตลาดมาจนถึงปัจจุบัน[3] ต่อมาพระยามหาโยธา (เจ่ง) ต้นสกุลคชเสนี เป็นผู้นำชาวมอญจากเมืองประทุมธานี เป็นชายฉกรรจ์ราว 300 คน มาตั้งถิ่นฐานในเมืองนครเขื่อนขันธ์ หลังจากนั้นก็มีคลื่นผู้อพยพเชื้อสายมอญจากพม่าหลายระลอกเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นจำนวนมาก[2] พระยามหาโยธาและลูกหลานได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นเจ้าเมืองนครเขื่อนขันธ์สืบต่อมาหลายรุ่น ทำให้เมืองแห่งนี้มีอัตลักษณ์ความเป็นมอญที่โดดเด่น[3] จากการสำรวจของนายแพทย์ สุเอ็ด คชเสนี พบว่า พ.ศ. 2512-2515 มีชาวมอญปากลัดอาศัยอยู่ในพระประแดงจำนวนทั้งสิ้น 94,229 คน[2] อิทธิพลมอญแพร่ไปยังกลุ่มมลายูมุสลิมที่ปากลัด ในพิธีสุหนัต เด็กชายที่เข้าพิธีจะถูกแต่งกายด้วยเสื้อผ้า เครื่องประดับ และแต่งแต้มใบหน้าอย่างประเพณีบวชลูกแก้วของไทใหญ่และพ่อนาคของมอญ แต่โพกผ้าสะระบั่นอย่างแขก ถือเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน[5]

พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า "เมืองนครเขื่อนขันธ์ แม้จะไม่ได้สร้างบนพื้นที่เดิมของเมืองพระประแดง แต่ก็อยู่ในเขตใกล้เคียงกัน และยังมีความสำคัญดั่งเช่นเมืองพระประแดงเดิม" จึงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อเมืองนครเขื่อนขันธ์ เป็นเมืองพระประแดง และเปลี่ยนเป็นจังหวัดพระประแดง ตามลำดับ[3] ส่วนที่ตั้งเมืองพระประแดงเดิมช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 นั้นอยู่บริเวณระหว่างคลองเตยกับคลองพระโขนงตรงข้ามคุ้งบางกะเจ้า ในต้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทำการรื้อกำแพงเมืองพระประแดงที่โรยราไปสร้างกรุงธนบุรี[6] หลงเหลือเพียงวัดเก่าประมาณสี่วัดคือ วัดหน้าพระธาตุ วัดทอง วัดเงิน และวัดไก่เตี้ย อันเป็นหลักฐานการมีตัวตนของเมืองพระประแดงเก่า แต่ปัจจุบันวัดทั้งหมดถูกรื้อเพื่อสร้างท่าเรือคลองเตยเมื่อ พ.ศ. 2480[7] และเมืองพระประแดงเก่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับเมืองนครเขื่อนขันธ์หรือพระประแดงที่ตั้งขึ้นใหม่แต่ประการใด[4]

15 ตุลาคม พ.ศ. 2458 มีการโอนอำเภอบ้านทวายไปขึ้นกับจังหวัดพระนคร[8] 31 ตุลาคมปีเดียวกัน ราชกิจจานุเบกษา ระบุว่า จังหวัดพระประแดงมีเขตการปกครองอยู่สองอำเภอคือ อำเภอพระประแดงและอำเภอพระโขนง[9] ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2470 มีการโอนตำบลช่องนนทรีและบางโพงพางจากอำเภอพระประแดงมาขึ้นกับอำเภอพระโขนง และโอนอำเภอพระโขนงเข้าจังหวัดพระนคร และโอนอำเภอราษฎร์บุรณะ (ยกเว้นตำบลดาวคะนองและบางปะแก้ว) จากจังหวัดธนบุรีขึ้นกับจังหวัดพระประแดงเพื่อความสะดวกในการปกครอง[10] หากเปรียบเทียบแล้วเฉพาะตำบลช่องนนทรีและบางโพงพางที่ถูกโอนออกไปเป็นพื้นที่มีประชากรหนาแน่นมาก เมื่อเทียบกับอำเภอราษฎร์บุรณะที่ถูกโอนเข้ามา แสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่น้อยลงของจังหวัดพระประแดง[4]

ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลานั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ จึงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้ยุบจังหวัดพระประแดง โดยอำเภอพระประแดงถูกยุบรวมเข้ากับจังหวัดสมุทรปราการ ส่วนอำเภอราษฎร์บุรณะถูกยุบรวมเข้ากับจังหวัดธนบุรี[1] มีผลในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2474[4]

ใกล้เคียง

จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดของประเทศไทย จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดชลบุรี จังหวัดนนทบุรี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดอุดรธานี

แหล่งที่มา

WikiPedia: จังหวัดพระประแดง http://lek-prapai.org/home/view.php?id=664 http://www.damrong-journal.su.ac.th/index.php?page... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2458/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2458/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2470/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2474/A/... http://www.anurak-sp.in.th/legend/legend_05.pdf http://www.openbase.in.th/node/9808 https://www.silpa-mag.com/history/article_23819