ประวัติ ของ จากัวร์คาร์ส

ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2465 ที่เมืองแบล็คพูลในอังกฤษ ในนาม Swallow Sidecar Company โดยชายผู้ชื่นชอบรถจักรยานยนต์สองคน คือ William Lyons และ William Walmsley ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 บริษัทได้ย้ายไปที่เมืองโคเวนทรี และเปลี่ยนชื่อบริษัท โดยย่อชื่อลงเป็น SS Cars Ltd รถยนต์คันแรกที่ใช้ชื่อจากัวร์เป็นรถเก๋งที่ใช้เครื่องยนต์ขนาด 2.5 ลิตร ผลิตในปี พ.ศ. 2478 บริษัทได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อจากัวร์เป็นชื่อบริษัทในปี พ.ศ. 2488 หลังจากที่ชื่อเสียงของบริษัท SS นั้นเริ่มถดถอยลง ประกอบกับเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นในช่วงเวลานั้น

จากัวร์เริ่มเป็นที่รู้จักในช่วงทศวรรษที่ 1950 ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์หรูและรถสปอร์ต บริษัทได้ซื้อกิจการของรถยนต์ยี่ห้อเดมเลอร์ (คนละอย่างกันกับบริษัทเดมเลอร์ เอจี ของเยอรมัน) มาจาก Birmingham Small Arms Company (BSA) ในปี พ.ศ. 2503 และใช้ยี่ห้อเดมเลอร์เป็นยี่ห้อของรถยนต์ที่มีความหรูหรามากกว่ารถจากัวร์

การควบรวมกิจการ

จากัวร์ได้ควบรวมกิจการกันกับ British Motor Corporation (บีเอ็มซี) และ ออสติน-มอร์ริส (ออสตินกับมอร์ริสได้รวมกิจการกันอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2495) แล้วตั้ง British Motor Holdings (บีเอ็มเอช) ขึ้นในปี พ.ศ. 2509 หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2511 ได้รวมกิจการกันกับ เลย์แลนด์ ซึ่งได้ครอบครอง (เทคโอเวอร์) กิจการ โรเวอร์ สแตนดาร์ด และ ไทรอัมพ์ แล้วตั้ง British Leyland Motor Corporation (บีแอลเอ็มซี) ในปีเดียวกัน แต่ต่อมาได้เกิดปัญหาทางการเงิน บริษัทจึงตกเป็นของรัฐ และเป็นรัฐวิสาหกิจ ในปี พ.ศ. 2518 บริษัทเปลี่ยนชื่อเป็น British Leyland Ltd (ภายหลังได้ย่อชื่อบริษัทเป็น BL plc).

ในปี พ.ศ. 2527 จากัวร์ถูกแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทเอกชน และได้แยกออกเป็นบริษัทเดี่ยวในตลาดหุ้น

การซื้อและขายกิจการโดยฟอร์ด

ฟอร์ดมอเตอร์ เสนอซื้อกิจการจากัวร์เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2532 และผ่านการอนุมัติในที่ประชุมผู้ถือหุ้นใหญ่ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2533 หลังจากนั้นบริษัทจากัวร์ถูกถอดชื่อออกจากตลาดหุ้นลอนดอนในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533[1] หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2542 จากัวร์เป็นส่วนหนึ่งของ Premier Automotive Group (พีเอจี) ซึ่งเป็นกลุ่มกิจการของฟอร์ด ซึ่งมี แอสตันมาร์ติน, วอลโว่ และมีแลนด์โรเวอร์เพิ่มขึ้นมาในปี พ.ศ. 2543

ปัจจุบันฟอร์ดขายกิจการจากัวร์ออกไปแล้ว โดยได้มีการบรรลุข้อตกลงในการขายกิจการให้กับทาทามอเตอร์ส เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2551 โดยเป็นการขายกิจการรถยนต์จากัวร์และแลนด์โรเวอร์พร้อมกัน และมีมูลค่าการซื้อขายรวม 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[2] เช่นเดียวกับกิจการรถยนต์สปอร์ตหรู แอสตันมาร์ติน ฟอร์ดขายหุ้นแอสตันมาร์ตินของตนเกือบทั้งหมดให้กับกลุ่มนักลงทุนชาวคูเวตและชาวอังกฤษไปแล้วก่อนหน้านั้น (พ.ศ. 2550) เนื่องจากเห็นว่ากิจการเหล่านี้ประสบภาวะขาดทุน หรือไม่ได้สร้างกำไรให้กับฟอร์ดมอเตอร์เท่าที่ควร