แนวคิดและการต่อสู้ ของ จิตร_ภูมิศักดิ์

ชื่อเสียงของ จิตร ภูมิศักด์ น่าจะโด่งดังในสาธารณชนวงกว้างเป็นครั้งแรก จากกรณี โยนบก เมื่อครั้งที่เขาเป็น"สาราณียากร" ให้กับหนังสือประจำปี ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2496 ในครั้งนั้นเขาได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่ "ซ้ำ ๆ ซาก ๆ" ของหนังสือประจำปี โดยลงบทความสะท้อนปัญหาสังคม ประณามผู้เอารัดเอาเปรียบในสังคม ซึ่งรวมถึงรัฐบาลด้วย รวมทั้งชี้ให้เห็นค่านิยมอันไม่ถูกต้อง ซึ่งผู้คนนับถือกันมานาน โดยบทความเหล่านั้น มีทั้งที่จิตรเขียนเอง ร่วมแก้ไข หรือเพื่อน ๆ คนอื่นเขียน ผลก็คือระหว่างการพิมพ์หนังสือได้ถูกตำรวจสันติบาลอายัด และมีการ "สอบสวน" จิตรที่หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเหตุการณ์นั้น จิตรถูกกลุ่มนิสิตที่นำโดย"นายสีหเดช บุนนาค" คณะวิศวกรรมศาสตร์ตั้งศาลเตี้ยจับ "โยนบก" ลงจากเวทีหอประชุม ทำให้จิตรได้รับบาดเจ็บต้องเข้าโรงพยาบาลและพักรักษาตัวอยู่หลายวัน ต่อมาทางมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาโทษและมีมติให้จิตร ภูมิศักดิ์ถูกพักการเรียนเป็นเวลา 1 ปี คือในปี พ.ศ. 2497

ระหว่างถูกพักการเรียน จิตรได้ไปสอนวิชาภาษาไทยที่โรงเรียนอินทร์ศึกษา แต่สอนได้ไม่นาน ก็ถูกไล่ออกไป เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีหัวก้าวหน้ามากเกินไป จิตรจึงไปทำงานกับหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เอง ที่จิตรได้สร้างสรรค์ผลงานการวิจารณ์ที่มีคุณค่าต่อวงวิชาการไทยหลายเรื่อง เช่น การวิจารณ์วรรณศิลป์ วิจารณ์หนังสือ วิจารณ์ภาพยนตร์ โดยใช้นามปากกา "บุ๊คแมน" และ "มูฟวี่แมน"

ปี พ.ศ. 2498 เขากลับเข้าเรียนอีกครั้งและสำเร็จปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิตในปี พ.ศ. 2500 จากนั้นก็เข้าเป็นอาจารย์ที่"วิทยาลัยเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์"และศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร จนกระทั่งถูกจับในข้อหา "สมคบกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายใน และภายนอกราชอาณาจักรและกระทำการเป็นคอมมิวนิสต์" เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2501 เขาถูกคุมขังอยู่จนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2507 จึงได้รับการปลดปล่อยและพ้นจากข้อหาของทางการ

เนื่องจากเขาถูกติดตามคุกคามจากทางการและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอย่างหนักทำให้เดือนตุลาคม พ.ศ. 2508 จิตรได้เดินทางสู่ชนบทภาคอีสาน เพื่อเข้าร่วมต่อสู้กับการปกครองด้วยระบบทหาร ในนาม สหายปรีชา ต่อมาด้วยการคุกคามจากอำนาจรัฐ จิตรถูกอดีตกำนันตำบลคำบ่อ อาสาสมัคร และทหาร ล้อมยิงจนเสียชีวิตที่ทุ่งนากลางป่าละเมาะใน"บ้านหนองกุง" ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509[3]

ใกล้เคียง

จิตร ภูมิศักดิ์ จิตรกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาในอิตาลี จิตรพล โพธิวิหค จิตรฉรีญา บุญธรรม จิตรกรรมฝาผนัง จิตรกรรมยุคทองของเนเธอร์แลนด์ จิตรกรรมบารอกแบบเฟลมิช จิตรกรรมไทยประเพณี จิตรกรรม จิตรวดี จุลานนท์