จิตวิญญาณธรรมศาสตร์
จิตวิญญาณธรรมศาสตร์

จิตวิญญาณธรรมศาสตร์

คำว่า จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ เป็นคำที่นิยมใช้ติดปากในการกล่าวถึงเหตุการณ์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แม้จะยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า คำว่า “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” นั้นกำเนิดเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อใด แต่การหยิบยกคำนี้มาใช้ และการถกเถียงถึงนิยามความหมายของคำ ๆ นี้นั้น เข้มข้นเป็นอย่างมากในช่วงปี พ.ศ. 2544 เมื่อฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยประกาศเดินหน้าแผนการย้ายการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีทั้งหมด (ยกเว้นโครงการพิเศษบางโครงการ) ไปที่ศูนย์รังสิต ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่าง ๆ จากทั้งประชาคมธรรมศาสตร์ และบุคคลผู้สนใจทั่วไป โดยประชาคมธรรมศาสตร์จำนวนหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับการย้าย ซึ่งนำโดย ​นายชาญวิทย์​ ​เกษตรศิริ​ ​อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ และอดีต​ผู้​บริหารมหาวิทยาลัย ได้ยกคำนี้มาเป็นคำขวัญในการต่อสู้ และอ้างว่าการย้ายปริญญาตรีออกไปจากท่าพระจันทร์นั้น จะทำให้จิตวิญญาณธรรมศาสตร์นั้นสูญหายไป เนื่องจากทางกลุ่มเห็นว่าสิ่งนี้ผูกพันเป็นอย่างมากกับท่าพระจันทร์[1][2]การนำจิตวิญญาณธรรมศาสตร์มาเป็นข้ออ้างนี้ ก่อให้เกิดการโต้เถียงเรื่องนิยามความหมายและการดำรงอยู่ของ “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” ในวงกว้าง ทั้งจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยโดยตรง และบุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยโดยบางกลุ่มก็เห็นว่าจิตวิญญาณนี้อาจจะไม่ได้ดำรงอยู่อีกต่อไปแล้วก็ได้ หากจะมองมันในนิยามเดิม ๆ[2] ส่วนบางกลุ่มก็เห็นว่ายังมีอยู่ แต่อาจจะไม่ได้ยึดโยงอยู่เฉพาะกับธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์แต่เพียงอย่างเดียว[3]ในความเข้าใจกว้าง ๆ ทั่วไปแล้ว สิ่งที่เรียกกันว่า “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” นั้นหมายถึงการเรียกร้องความเท่าเทียมกันในสังคม[4] ดังจะเห็นได้จากการที่มหาวิทยาลัยเกี่ยวพันกับการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในสังคม โดยเฉพาะพัฒนาการของประชาธิปไตยของประเทศไทยมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อตั้ง โดยมหาวิทยาลัยก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบาลคณะราษฎรที่ได้กระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตย เพื่อให้การศึกษาวิชาการเมืองการปกครองแก่ประชาชนทั่วไป ดังที่ประกาศในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476 ว่า “โดยที่สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาว่า เมื่อได้มีการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญแล้ว ก็เป็นการสมควรที่จะรีบจัดบำรุงการศึกษาวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองให้ได้ระดับมหาวิทยาลัยในอารยประเทศ และให้แพร่หลายยิ่งขึ้นโดยเร็ว จึ่งเป็นการสมควรที่จะจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นเป็นพิเศษ”[5]พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตในบทความ “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” จงไปสู่สุขคติ[2] ว่า จิตวิญญาณธรรมศาสตร์นั้น ได้พัฒนาและเฟื่องฟูขึ้นในเงื่อนไขเผด็จการทหาร ที่กดขี่ข่มเหงและทุจริต ลิดรอน สิทธิ เสรีภาพ ของประชาชน โดยเป็นแสงสว่างทางปัญญาของสังคมไทยในช่วงที่ภาคประชาสังคมและชนชั้นกลางไทยยังอ่อนแอ แต่เมื่อเวลาผ่านไปพร้อมกับการอ่อนกำลังลงของระบอบเผด็จการทหาร (พิชิตเขียนบทความดังกล่าวใน พ.ศ. 2544 ห้าปีก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549) และประชาสังคมไทยได้พัฒนาเข้มแข็งขึ้น ความจำเป็นของ “กองหน้าปัญญาชน” เช่นในอดีตจึงหายไป จิตวิญญาณธรรมศาสตรจึงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อีกต่อไป โดยพิชิตเสนอว่า หากจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ หมายถึงจิตใจที่ต่อต้านเผด็จการ ต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความเป็นธรรมทางสังคมแล้ว จิตวิญญาณที่ว่านี้ ก็ได้ยกระดับไปสู่ประชาสังคมวงกว้างที่เริ่มตื่นตัวและรู้จักต่อสู้ด้วยตนเองแล้ว ดังจะเห็นได้ชัดจากการต่อสู้ครั้งพฤษภาทมิฬ ที่ไม่ได้มี “ขบวนการนิสิตนักศึกษา” หรืออาจารย์ธรรมศาสตร์เข้ามามีบทบาทโดยตรง แต่เป็นประชาสังคมไทยที่ลุกขึ้นต่อสู้ช่วงชิงประชาธิปไตยกลับคืนมากันเอง นับเป็นพัฒนาการสำคัญอีกก้าวหนึ่งของประชาสังคมไทย[2]ในปาฐกถางาน “เดินประชาธิปไตย” เนื่องในวาระ 69 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เมื่อ พ.ศ. 2544 ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเสนอว่าในการพิจารณาจิตวิญญาณธรรมศาสตร์นั้น ไม่ควรจะติดอยู่เพียงเรื่องของจิตวัญญาณที่ศักดิ์สิทธิ์เพียงอย่างเดียว แต่ควรจะทบทวนในด้านอุดมการณ์ของการอุดมศึกษาให้ดี และเสนอต่อไปว่าหลักการสำคัญของอุดมการณ์การอุดมศึกษานั้นอยู่ในสิ่งที่เรียกว่า “จิตวิญญาณของธรรมศาสตร์” และแม้จะชื่อว่าธรรมศาสตร์ก็ตาม แต่ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น โดยอ้างถึงคำกล่าวของผู้ประศาสน์การ ปรีดี พนมยงค์ ในโอกาสการก่อตั้งมหาวิทยาลัย ที่ว่า “มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา” กล่าวคือจิตวิญญาณธรรมศาสตร์คือการให้ความสำคัญกับหลักสิทธิเสรีภาพ และมองการแสวงหาความรู้ว่าเป็นสิทธิเสรีภาพที่ทุกคนควรมี ไม่ใช่คิดว่าการศึกษาเป็นแต่เพียงการสร้างคนสร้างความรู้ไปตอบสนองธุรกิจและรัฐเท่านั้น ในตอนท้ายของปาฐกถา นิธิได้เสนอว่า ถ้าธรรมศาสตร์เคยเป็นหัวหอกของการต่อสู้อำนาจเผด็จการทหาร วันนี้ธรรมศาสตร์ต้องต่อสู้กับเผด็จการทุนและธุรกิจ เพราะจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์คือการต่อสู้กับเผด็จการ[3]

ใกล้เคียง

จิตวิทยา จิตวิทยาเชิงบวก จิตวิทยาคลินิก จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ จิตวิทยาชุมชน จิตวิทยาเกสทัลท์ จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ จิตวิเคราะห์ จิตวิทยาสังคม จิตวิทยาการเรียนรู้