ประวัติ ของ จินตหรา_พูนลาภ

จินตหรา พูนลาภ มีชื่อเกิดว่าทองใบ จันทร์เหลือง (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อจริงเป็นจินตหรา จันทร์เหลือง, จินตหรา กวีสุนทรกุล[4]ตามลำดับ) มีชื่อเล่นว่า จิน เธอเกิดวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2512[5] แต่เธอบอกว่าเกิดวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2514 เป็นลูกคนที่ 4 จากทั้งหมด 5 คนของอุทัย และจันทร์ จันทร์เหลือง[6] (สกุลเดิม พูนลาภ) ครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม พอเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พ่อจึงพาไปเปลี่ยนชื่อเป็น จินตหรา จันทร์เหลืองเมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เมื่อปี พ.ศ. 2526 เธอจึงได้ไปอยู่กับคณะหมอลำเพชรอีสานลำเพลิน และได้เริ่มประกวดร้องเพลง โดยการชักชวนของเพื่อน หลังจากชนะการประกวดร้องเพลงที่จังหวัดขอนแก่น ได้รับการติดต่อจาก "เฮียยิ้ง" ชาย สีบัวเลิศ นักจัดรายการวิทยุเพลงลูกทุ่ง เข้าบันทึกเสียงเป็นนักร้องลูกทุ่งคนแรกของค่ายแกรมมี่ ซึ่งทำการตลาดโดยจีเอ็มเอ็ม[7]

เมื่อจินตหราอายุ 16 ปี ได้เข้าสู่วงการโดยผลงานเพลงชุดแรกคือ ถูกหลอกออกโรงเรียน เมื่อปี พ.ศ. 2530 เป็นผลงานเพลงที่แต่งโดยสรเพชร ภิญโญ ซึ่งเป็นผู้ที่แต่งเพลง น้ำตาเมียซาอุ ของพิมพา พรศิริ ที่โด่งดังในปี พ.ศ. 2529 โดยที่จินตหราได้ใช้ชื่อในวงการว่า จินตหรา พูนลาภ (นามสกุลก่อนสมรสของมารดา) สังกัดค่ายแกรมมี่ โดยได้รับการสนับสนุนจากปรีชา ทรัพย์โสภา นักจัดรายการวิทยุ ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำยอดขายได้ 8 แสนชุด ก็ประสบความสำเร็จตามมากับชุดที่ 2 ชื่อชุด วานเพื่อนเขียนจดหมาย ทำยอดขายได้ 1 ล้านตลับ[ต้องการอ้างอิง] ราวปี พ.ศ. 2530-2531 งานเพลงในยุคแรกเป็นแบบลูกทุ่งภาคกลาง แต่หลังจากมีผลงาน 5 ชุด ได้เริ่มออกผลงานเพลงแนวหมอลำโดยมี พิมพ์ใจ เพชรพลาญชัย เป็นครูสอนการร้องลำให้ โดยอัลบั้มหมอลำชุดแรกคือ พลังรัก[8]

หลังชุดที่ 16 ชาย สีบัวเลิศ ผู้ปั้นจินตหรา พูนลาภให้โด่งดัง ได้แยกตัวออกจากค่ายแกรมมี่ มาเปิดเป็นค่ายมาสเตอร์เทป โดยได้จินตหรา พูนลาภเป็นศิลปินเบอร์หนึ่งของค่าย โดยระหว่างที่เธอเป็นศิลปินสังกัดมาสเตอร์เทปก็มีผลงานเป็นที่รู้จักมากมายนับไม่ถ้วน อาทิ สิ้นหวังที่วังตะไคร้, สงสารหัวใจ, แอบรักหนุ่มยาม, ขอรักฝ่ายเดียว, อ้อนพ่อซื้อมอเตอร์ไซค์, คอยพี่ที่มออีแดง, รอพี่ที่ บขส., รักโผล่โสนแย้ม, รักสลายดอกฝ้ายบาน, ผู้หนีช้ำ, ห่วงพี่ที่คูเวต, น้ำตาสาววาริน เป็นต้น

จินตหรา พูนลาภได้รับความนิยมอย่างสูงสุดในการร่วมงานกับธงไชย แมคอินไตย์ ในเพลง "แฟนจ๋า" และ "มาทำไม" และในปี พ.ศ. 2547 ได้ร่วมแสดงบนเวทีเอ็มทีวี เอเชีย อวอร์ดส ที่สิงคโปร์ กับธงไชย แมคอินไตย์, แคทรียา อิงลิช และนัท มีเรีย[9]

ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550 จินตหรา พูนลาภ ได้เซ็นสัญญากับค่ายใหม่อาร์สยาม ในสังกัดอาร์เอส หลังจากที่ค่ายเดิมคือมาสเตอร์เทปปิดตัวลง ต่อมาได้หมดสัญญากับค่ายอาร์สยามในปี พ.ศ. 2560 และหลังจากนั้นจึงเป็นศิลปินอิสระ[10][11]

สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ในปี 2550 และได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต(กิตติมศักดิ์) โปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการละคร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด ในปี 2547

แหล่งที่มา

WikiPedia: จินตหรา_พูนลาภ http://www.isangate.com/entertain/jintara.html http://entertain.teenee.com/thaistar/16721.html http://www.komchadluek.net/2007/12/27/f001_183192.... https://www.daradaily.com/news/75445/read https://sites.google.com/view/morradokisan-db/%E0%... https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E... https://video.sanook.com/player/432907/ https://www.sanook.com/music/2410041/ https://www.sanook.com/music/2412481/ https://commons.wikimedia.org/wiki/Jintara_Poonlar...