จิบเบอเรลลิน

จิบเบอเรลลิน (Gibberellin) เป็นฮอร์โมนพืชที่มีโครงสร้างโมเลกุลขนาดใหญ่ ควบคุมการเจริญเติบโตและมีอิทธิพลต่อกระบวนการทางพัฒนาการรวมทั้งการยืดของข้อ การงอก การพักตัว การออกดอก การแสดงเพศ การชักนำการสร้างเอนไซม์ รวมทั้งการชราของดอกและผล [1] จิบเบอเรลลินถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2469 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น Eiichi Kurosawa ผู้ศึกษาโรคบากาเนะในข้าว เริ่มจากการศึกษาต้นข้าวที่เป็นโรค Bakanae ซึ่งมีลักษณะสูง ผอม เกิดจากเชื้อรา Gibberella fujikuroi[1][2] และถูกสกัดออกมาเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2478 โดยTeijiro Yabuta จากเชื้อรา G. fujikuroi เมื่อสกัดสารที่เชื้อรานี้สร้างขึ้นไปทดสอบกับพืชชนิดอื่น พบว่าทำให้พืชนั้นๆมีอาการอย่างเดียวกันคือต้นผอม สูง จึงตั้งชื่อสารที่พบนี้ว่าจิบเบอเรลลิน สารที่พบชนิดแรกตั้งชื่อว่าจิบเบอเรลลิน[1] ต่อมามีการพบอนุพันธ์ของกรดจิบเบอเรลลิกจากราอีกหลายชนิด รวมทั้งในพืช ใน พ.ศ. 2546 พบจิบเบอเรลลินแล้ว 126 ชนิดทั้งที่แยกได้จากพืช รา และแบคทีเรีย[1]