ชุมชนบ้านครัว ของ จิม_ทอมป์สัน

บ้านจิม ทอมป์สัน ปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ อยู่ตรงข้ามชุมชนบ้านครัว กรุงเทพฯ

เมื่อ ค.ศ. 1947 ขณะที่จิมเริ่มเสาะหาผ้า เวลานั้นผ้าไหมไทยเริ่มจะไม่มีเหลือแล้ว ตระกูลช่างทอผ้าต่างเลิกอาชีพดั้งเดิม ทั้งยังกระจัดกระจายไปยังตำบลอื่น ๆ เพราะการทอผ้าแบบเดิมมีรายได้น้อยมาก ที่ทำอยู่ก็เป็นเพียงนอกเวลางานหลักเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยังมีชุมชนทอผ้าแห่งหนึ่งหลงเหลืออยู่ในพระนคร นั่นคือ ชุมชนบ้านครัว ริมคลองแสนแสบ ซึ่งเป็นชุมชนมุสลิม ท่ามกลางวัฒนธรรมพุทธศาสนาที่รายรอบ ทว่าก็ไม่ได้ทอผ้ากันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

จิมเริ่มไปสำรวจที่บ้านครัว และทำความรู้จักสนิทสนมกับช่างทอที่นั่น ทั้งยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมการทอผ้าไปด้วย ในภายหลังจิมได้ทราบว่าผู้คนที่นั่นเป็นแขกจาม ที่อพยพมากรุงเทพฯ เมื่อครั้งไทยรบกัมพูชา เมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา จิมได้ปรึกษาเจมส์ สกอตต์ ทูตพาณิชย์สหรัฐประจำประเทศไทย ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งในดามัสคัสมาก่อน ทั้งสองตกลงที่จะผลักดันการผลิตผ้าตกไหมแบบซีเรีย และไม่ช้าก็พัฒนาเป็นสิ่งค้าส่งออกได้อย่างดี

หลังจากนั้นจิมได้นำตัวอย่างผ้าไหมแบบดั้งเดิมไปเผยแพร่ในสหรัฐอเมริกา เขาเข้าหา แฟรงก์ คราวนินชีลด์ (Frank Crowninshield) บรรณาธิการของนิตยสาร Vanity Fair ซึ่งสนิทสนมกันมาก่อน และเป็นผู้ที่จิมคิดว่าน่าจะสามารถเชื่อมความสัมพันธ์กับวงการอุตสาหกรรมแฟชั่นได้ จากนั้นเขาได้รู้จักกับเอ็ดนา วูลแมน เชส (Edna Woolman Chase) ซึ่งภายหลังเป็นบรรณาธิการนิตยสาร Vogue ซึ่งเมื่อเชสได้เห็นผ้าไหมของช่างทอบ้านครัวก็รู้สึกชอบใจทันที อีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา เสื้อผ้าไหมที่ออกแบบโดยวาเลนทินา (Valentina) นักออกแบบเสื้อผ้าผู้มีชื่อเสียงของนิวยอร์กก็ได้ปรากฏโฉมในนิตยสาร Vogue อย่างสง่างาม

หลังจากนั้นจิมได้ก่อตั้งบริษัทขึ้น ในปี ค.ศ. 1948 และส่งเสริมให้ชาวบ้านครัวทอผ้าโดยอิสระ แล้วไปรับซื้อโดยตรง เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และคงคุณภาพไว้อย่างเดิม เขานั่งเรือจากฝั่งตรงข้าม ไปยังชุมชนบ้านครัวทุกวัน เพื่อตรวจสอบผ้า ให้คำแนะนำ และซื้อผ้าทอเหล่านั้น กระทั่งช่างทอที่บ้านครัวมีฐานะดีขึ้น บางคนถึงมีฐานะในระดับเศรษฐี มีเครื่องอำนวยความสะดวกในบ้านครบครันกันถ้วนหน้า (ในเวลานั้น) ในขณะเดียวกัน ธุรกิจผ้าไหมไทยเจ้าอื่น ๆ ก็เริ่มสดใส