ประวัติ ของ จีเอ็มเอ็ม_25

จีเอ็มเอ็ม 25 มีเนื้อหาที่นำเสนอรายการวาไรตี้, ดนตรี, กีฬา, ข่าวสาร, สาระบันเทิง รวมถึงรายการเด็กและครอบครัว บริหารงานโดย สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ซึ่งก่อนหน้าจะเริ่มออกอากาศ มีการโฆษณาด้วยชื่อ จี-ทเวนตีไฟว์ (G-25) แต่มิได้นำมาใช้จริง โดยเปิดตัวในชื่อ ช่องบิ๊ก (BiG) เป็นครั้งแรก ร่วมกับช่องวัน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เริ่มทดลองออกอากาศ ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม เวลา 11:00 น. จากนั้นเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ต้นสังกัดก็เปลี่ยนเป็นชื่อปัจจุบัน และเปิดตัวอัตลักษณ์ใหม่ เมื่อวันที่ 1 กันยายน ปีเดียวกัน ซึ่งตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 แสดงหมายเลขช่อง 25 กำกับไว้ทางขวามือ เพิ่มขึ้นจากอัตลักษณ์เดิม นอกจากนี้ ทางช่องยังก่อตั้งสำนักข่าว จีเอ็มเอ็มนิวส์ ซึ่งบริหารงานโดย ภูวนาท คุณผลิน โดยเริ่มออกอากาศรายการข่าว ภายใต้สำนักข่าวนี้ มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 และได้มีการเปิดตัวผังรายการปี 2558 ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เวลา 19.00 น. ทางสถานีได้มีประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสวรรคต กสทช. จึงมีคำสั่งให้สถานีโทรทัศน์ทุกสถานีรวมถึงช่องจีเอ็มเอ็ม 25 งดออกอากาศรายการตามปกติเป็นระยะเวลา 30 วัน และให้เกี่ยวโยงสัญญาณจาก สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ. 5), สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (สทท.) ร่วมกับ โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทรท.) เผยแพร่สารคดีพระราชกรณียกิจของพระองค์รวมไปถึงคอนเทนต์รายการพิเศษที่เกี่ยวกับพระองค์ อาทิ ภาพยนตร์เทิดพระเกียรติ, ละครเทิดพระเกียรติ ฯลฯ มาออกอากาศแทนชั่วคราวระยะหนึ่ง หลังจากโทรทัศน์ทุกช่องออกอากาศได้ตามปกติแล้ว สถานีจึงปรับผังรายการเป็นการเฉพาะกิจ โดยงดรายการบันเทิง รวมถึงรายการเทิดพระเกียรติ จนกระทั่งหลังครบกำหนด 30 วัน สถานีได้ทยอยนำรายการปกติมาออกอากาศทีละรายการจนครบตามผังปกติในวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

การลงนามในสัญญาว่าด้วยการจองซื้อหุ้นสามัญโดยกลุ่มทีซีซี

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2560 จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ได้ส่งหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า บริษัท อเดลฟอส จำกัด ภายใต้กลุ่มทีซีซี โดยนายปณต สิริวัฒนภักดี และนายฐาปน สิริวัฒนภักดี ได้ร่วมลงนามในสัญญาจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด ในสัดส่วน 50% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด พร้อมทั้งปรับโครงสร้างของ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด ใหม่คือ

  1. ขายและโอนสิทธิ์การถือหุ้นของ บริษัท จีเอ็มเอ็มทีวี จำกัด จำนวน 100% ให้ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด
  2. ขายและโอนสิทธิ์การถือหุ้นของ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) จำนวน 99.8% ให้ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งบริษัทดังกล่าวถือหุ้น บริษัท เอ-ไทม์ มีเดีย จำกัด จำนวน 100% และบริษัท เอไทม์มีเดีย ถือหุ้นบริษัท เอ-ไทม์ ทราเวลเลอร์ จำกัด 20%
  3. ขายและโอนสิทธิ์การถือหุ้นของ บริษัท เอ็กแซ็กท์ จำกัด จำนวน 100% และ บริษัท ซีเนริโอ จำกัด จำนวน 25% จาก บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) ให้ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัท ซีเนริโอ เป็นผู้ถือหุ้นส่วนหนึ่งของ บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท จีเอ็มเอ็ม วัน ทีวี จำกัด หรือสถานีโทรทัศน์ช่องวัน

เท่ากับว่าในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด จะมีบริษัทลูกภายใต้กลุ่มคือ (1) บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด, (2) บริษัท จีเอ็มเอ็มทีวี จำกัด, (3) บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน), (4) บริษัท เอ-ไทม์ มีเดีย จำกัด และ (5) บริษัท เอ-ไทม์ ทราเวลเลอร์ จำกัด

ทั้งนี้ การจองซื้อหุ้นสามัญดังกล่าว มีผลทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ลดลงจากเดิม 100% ของทุนจดทะเบียน เป็น 50% ของทุนจดทะเบียน และสัญญาดังกล่าวกลุ่มทีซีซีจะยังไม่สามารถเข้ามาปรับโครงสร้างภายในของจีเอ็มเอ็ม 25 ได้ภายในระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่ทำสัญญา แต่ในระยะยาวกลุ่มทีซีซีต้องการเปลี่ยนฐานผู้ชมจากเดิมที่เน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่และกลุ่มวัยรุ่น มาเป็นกลุ่มคนทั่วไปเพื่อขยายฐานผู้ชมให้กว้างขึ้นจากเดิม

ปัจจุบัน จีเอ็มเอ็ม 25 ได้เสร็จสิ้นขั้นตอนการเพิ่มทุนเรียบร้อยแล้ว โดยบริษัท อเลฟอส จำกัด ได้จัดตั้ง บริษัท สิริดำรงธรรม จำกัด และ บริษัท ภักดีวัฒนา จำกัด ขึ้นมาถือหุ้นแทน ทั้งนี้ บริษัท สิริดำรงธรรม จำกัด เป็นบริษัทที่มีนายฐาปณ สิริวัฒนภักดี เป็นผู้ถือหุ้น 100% และบริษัท ภักดีวัฒนา จำกัด เป็นบริษัทที่มีนายปณต สิริวัฒนภักดี เป็นผู้ถือหุ้น 100% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดในบริษัท

ข่าวลือเรื่องการปลดตัว สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ออกจากการเป็นผู้บริหาร

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2561 นารากร ติยายน ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "ได้ยินมาว่า ฟ้าผ่าที่ GMM25" และอีกสองชั่วโมงต่อมาก็ได้โพสต์ข้อความต่อเนื่องว่า "ได้ยินมาว่า ไม่ใช่แค่ GMM25 A-Time ก็โดนด้วย" จึงทำให้เกิดความสงสัยในสังคมออนไลน์ว่ามีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับ สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา หรือไม่ เพราะปกตินักข่าวจะใช้คำว่า "ฟ้าผ่า" ก็ต่อเมื่อมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้บริหารแบบฉับพลัน หรือตำแหน่งระดับสูง ซึ่งต่อมาสายทิพย์ ได้โพสต์ข้อความอธิบายลงในอินสตราแกรมส่วนตัวว่า ข่าวที่ได้ยินมาเป็นความจริง แต่เพียงครึ่งเดียว เพราะตัวเองไม่ได้ออกจากการเป็นบอร์ดบริหารของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จีเอ็มเอ็ม มีเดีย และจีเอ็มเอ็ม 25 แต่ขยับขึ้นไปดูแล บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ดูแลภาพรวมของหน่วยธุรกิจจีเอ็มเอ็ม 25 แทน

การปรับเปลี่ยนตำแหน่งภายในบริษัทและกลุ่มผู้ชมเป้าหมาย

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 หลังจากที่มีข่าวลือเรื่องการปลดตัว สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ในไม่กี่เดือนก่อนหน้า ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเพียงการย้ายไปควบคุมในตำแหน่งที่สูงกว่าในบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ดูแลบริษัทจีเอ็มเอ็ม 25 และบริษัทอื่นๆ ในเครือแกรมมี่ อีกทั้ง สายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา ยังได้ก่อตั้งบริษัทใหม่ของตนเองขึ้นในชื่อ บริษัท เช้นจ์ 2561 จำกัด[2][3] ซึ่งทั้งสองบริษัทนั้นมีเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อผลิตเนื้อหาสำหรับทุกช่องทางทุกช่องทีวีดิจิทัล โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นช่องจีเอ็มเอ็ม 25 หรือช่องทางออนไลน์ และเพื่อให้สามารถบริหารงานได้อย่างคล่องตัว บุษบา ดาวเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) จึงเข้ามารักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการของช่องจีเอ็มเอ็ม 25 แทน

ต่อมาในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 บุษบา ดาวเรือง ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบาย กลุ่มผู้ชมเป้าหมาย และประเภทของเนื้อหาของช่องในอนาคตที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็น “กลุ่ม Premium Mass” โดยหวังเจาะกลุ่มตลาดคนดูทั่วประเทศ แต่เน้นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง แทนที่กลุ่มวัยรุ่น-วัยทำงานที่เป็นฐานผู้ชมเดิมของช่อง เนื่องจากต้องการสร้างทั้งเรตติ้งและรายได้ให้กับช่องมากขึ้น ปัจจุบันเนื้อหาของช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ยังคงมาจากทั้งที่ช่องผลิตละครและรายการวาไรตี้เอง จากบริษัท จีเอ็มเอ็มทีวี ที่ผลิตรายการและละครซีรีส์วัยรุ่นให้กับช่องมาโดยตลอด และจากบริษัทอื่นๆ ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่หรือพันธมิตรทางธุรกิจ[4][5][6]

ในวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 จีเอ็มเอ็ม 25 ได้ประกาศชื่อผู้บริหารใหม่อย่างไม่เป็นทางการผ่านทางรายการข่าว "เช้าวันนี้ GMM News" กล่าวคือ สถาพร พานิชรักษาพงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ จีเอ็มเอ็มทีวี จะขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของช่องแทน บุษบา ดาวเรือง ที่อยู่ในตำแหน่งรักษาการ และ ชนิดา วงศ์ธนาภักดี ผู้จัดการฝ่ายขาย จีเอ็มเอ็มทีวี ก็ขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายของจีเอ็มเอ็ม 25 เช่นกัน ทั้งนี้ สถาพร ยังคงดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของจีเอ็มเอ็มทีวีตามปกติ

ใกล้เคียง

จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จีเอ็มเอ็มทีวี จีเอ็มเอ็ม 25 จีเอ็มเอ็ม ไท หับ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค จีเอ็มเอ็ม พิคเจอร์ จีเอ็นซีโฟร์ตีเอต จีเอ็มเอเน็ตเวิร์ค จีเอ็มเอ็มทีวี เรคคอร์ด จีเอ็มเอ็ม วัน ทีวี