พระราชประวัติ ของ จุมเบ_ฟาตีมา

พระชนม์ชีพช่วงต้น

จุมเบ ฟาตีมา เป็นพระราชธิดาของพลเอก พระเจ้ารามาเนตากา หรือสุลต่านอับเดรามาเน กับพระชายาราวาโอ พระราชชนกเป็นพระเทวันของพระเจ้าราดามาที่ 1 แห่งมาดากัสการ์ ด้วยเหตุนี้จุมเบ ฟาตีมาจึงเป็นพระญาติของเจ้านายมาดากัสการ์ หลังการสวรรคตของพระราดามาที่ 1 พระราชชนกจึงลี้ภัยออกจากมาดากัสการ์และก่อตั้งรัฐสุลต่านบนเกาะมอเอลี (ปัจจุบันอยู่ในประเทศคอโมโรส)[1] พระองค์มีพระขนิษฐาร่วมพระชนกชนนีพระองค์หนึ่งคือ จุมเบ ซาลามา แต่สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์[2]

เสวยราชย์

จุมเบ ฟาตีมาขึ้นเสวยราชย์เป็นสุลต่านแห่งมอเอลีหลังการเสด็จสวรรคตของพระเจ้ารามาเนตากาใน ค.ศ. 1842 โดยมีราวาโอเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพลาง[3] ต่อมาราวาโอเสกสมรสใหม่กับซีวันดีนี อดีตที่ปรึกษาของพระเจ้ารามาเนตากาเมื่อ ค.ศ. 1843 และกลายเป็นครูพิเศษของจุมเบ ฟาตีมา พร้อมไปกับการวางแผนที่จะให้สุลต่านหญิงผู้มีศักดิ์เป็นลูกเลี้ยงนี้เสกสมรสกับเจ้านายของรัฐสุลต่านแซนซิบาร์[4] แต่เวลาต่อมาราวาโอหย่าร้างกับซีวันดีนีเมื่อ ค.ศ. 1846

เมื่อฝรั่งเศสเข้าปกครองเกาะมายอต และสนใจที่จะพัฒนาเกาะมอเอลี จึงส่งมาดามดรัวต์ (Madame Droit) เข้ามาเป็นพระพี่เลี้ยงของสุลต่านหญิงจุมเบ[5] ค.ศ. 1849 เมื่อสุลต่านจุมเบพระชนมายุได้สิบสองพรรษา รัฐบาลฝรั่งเศสจึงจัดพระราชพิธีราชาภิเษกถวาย แต่สองปีต่อมาหลังพระราชพิธีราชาภิเษก สุลต่านหญิงพระองค์ทรงขับไล่พระพี่เลี้ยงชาวฝรั่งเศสออก และจัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับไซอิด มูฮัมมัด บิน นัสเซอร์ มากาดารา พระญาติของสุลต่านแซนซิบาร์ ก่อนถูกพวกฝรั่งเศสขับไล่ใน ค.ศ. 1860

ค.ศ. 1863 ฝรั่งเศสส่งคณะผู้แทนเข้าเฝ้าสุลต่านหญิง และเดซีเร ชาร์เนย์ (Désiré Charnay) การบันทึกภาพของสุลต่านหญิงพระองค์นี้ไว้[6] เขาบันทึกว่าพระองค์ "ทรงพระประชวรแลทุกข์โทมนัส" และมีข้าราชบริพารเฝ้าถวายงานเพียงไม่กี่คน[7] รวมทั้งบันทึกถึงฉลองพระองค์ว่า ทรงฉลองพระองค์ "ผ้าคลุมยาวทำจากผ้าไหมและทองคำอย่างดีจากตุรกี" ปิดพระพักตร์และพระวรกายเกือบทั้งหมด แลเห็นเพียงพระหัตถ์เท่านั้น[8] การเยือนมอเอลีครั้งนี้ของชาวฝรั่งเศส ก็เพื่อเชื้อเชิญให้ตัดสินพระทัยเข้าเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส แต่สุลต่านหญิงทรงปฏิเสธ[2]

ปลายพระชนม์

ค.ศ. 1865 สุลต่านจุมเบสละราชสมบัติแก่โมฮาเมด บิน ไซดี ฮามาดี มากาดารา พระราชโอรส และเมื่อชาวฝรั่งเศสกลับมาเกาะมอเอลีอีกครั้งใน ค.ศ. 1871 พระองค์ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และขึ้นเป็นสุลต่านอีกครั้งจนกระทั่งสวรรคตใน ค.ศ. 1878[4]

ใกล้เคียง