ลักษณะผลงาน ของ จเด็จ_กำจรเดช

สำหรับรวมเรื่องสั้นของเขา คณะกรรมการวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดยี่ยมแห่งอาเซียน หรือรางวัลซีไรต์ ประจำปีพุทธศักราช 2554 ได้ลงความเห็นว่า เป็นงานเขียนที่มีพลังกระทบใจ นำเสนอประเด็นอันหลากหลายเกี่ยวกับมนุษย์ในสังคมที่มีความซับซ้อน ผู้เขียนได้เสนอการปะทะกันระหว่างความจริงกับความจริงเสมือน ความรู้กับความเชื่อ ตลอดจนความเป็นเรากับความเป็นเขา ผู้เขียนได้สร้างสรรค์กลวิธีการเล่าเรื่องหลายวิธีที่ท้าทายการตีความ เช่น การตัดต่อ การซ้ำ การใช้มุมมอง การเสียดสี การสร้างสัมพันธบท ตลอดจนการสร้างตัวละครที่อยู่ในภาวะความรู้และความไม่รู้ ซึ่งสร้างความคลุมเครือและความลวง กลวิธีเหล่านี้เปิดพื้นที่ให้ผู้อ่านสร้างความหมายได้หลายระดับ

กระแสหนังสือมีทั้งดีและไม่ดีในสายตาผู้อ่าน แต่ค่อนข้างดีในสายตานักวิจารณ์ โดยนักเขียนรางวัลรวมเรื่องสั้นซีไรต์ปี 2530 เจ้าของนามปากกาไพฑูรย์ ธัญญา ได้พูดถึงงานของจเด็จว่า "เป็นภาพแทนนักเขียนร่วมสมัยที่แตกต่างกับสังคมยุคก่อน อาจเพราะสังคมที่มีความซับซ้อนกระจัดกระจายและไร้พรมแดน จึงทำให้งานของเขามีความน่าสนใจ"

ส่วนสำนักพิมพ์ผจญภัยที่ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ของจเด็จ พูดถึงงานของเขาว่า "ไปไกลกว่าคำว่า เพื่อชีวิต ซึ่งนักเขียนรุ่นก่อนหน้าเคยทำไว้..."