การทำงาน ของ จ่าง_แซ่ตั้ง

จ่าง แซ่ตั้ง ชื่นชอบการวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก และได้ฝึกฝนฝีมือการวาดภาพด้วยตัวเอง ในปี พ.ศ. 2505 เริ่มเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังสีน้ำมันขนาดใหญ่ โดยใช้นิ้วมือแทนพู่กัน เป็นภาพเจ้าแม่โพธิสัตว์ ที่มูลนิธิโรงพยาบาลเทียน โดยเขาเริ่มเขียนเรื่องสั้นในปี พ.ศ. 2506 เรื่อง “เวลาอันยาวนาน” พิมพ์ในหนังสือรับน้องใหม่ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 เริ่มเขียนบทกวี ที่มีลักษณะเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เรียกว่า "กวีรูปธรรม" (concrete poetry) ซึ่งมีที่มาจากการเป็นจิตรกรวาดภาพมาแต่เดิม ลักษณะเฉพาะของบทกวีของจ่าง คือ ไม่ใช้ไม้ยมกแทนคำซ้ำ แต่ กลับเขียนคำซ้ำๆ กัน และมีลักษณะคล้ายการเขียนรูป ซึ่งเป็นความแปลกใหม่ที่ไม่มีใครทำมาก่อน ทั้งนี้ จ่าง แซ่ตั้ง ถือว่าเป็นคนแรกในประเทศไทย ที่ได้สร้างงานศิลปะประเภทนามธรรมและมีอิทธิพลต่อวงการศิลปะไทยเป็นอันมาก

ในปี พ.ศ. 2510 มีการแปลผลงานกวีของจ่าง แซ่ตั้งเป็นภาษาอังกฤษ และได้รับเชิญไปร่วมงานประชุมกวรโลกที่กรุงแคนเบอร์รา ออสเตรเลีย ในปี พ.ศ. 2514 ต่อมานิตยสาร “ลุคอิส” ได้มาทำสารคดีเกี่ยวกับชีวิต การทำงานและความเป็นอยู่ ของจ่าง รวมทั้งนำภาพสีพิมพ์เป็นปกเพื่อจำหน่ายขายทั่วโลก