ประวัติ ของ ชนัตถ์_ปิยะอุย

ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย หรือ หยก แซ่หวัง เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2465 บิดาและมารดา ชื่อ พุฒ และลูกจันทน์ ปิยะอุย บิดาเคยเป็นพ่อค้าไม้ชื่อดังในภาคกลางและภาคเหนือ ส่วนมารดาประกอบการค้าข้าว มีพี่น้องด้วยกัน 6 คน คือ สุภา ปิยะอุย, สุนียรัตน์ เตลาน (ใช้นามสกุลมารดา), ชนัตถ์ ปิยะอุย, ชนาภรณ์ ปิยะอุย, พันโทวรพงษ์ ปิยะอุย และสมพจน์ ปิยะอุย[3] เริ่มเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเสาวภา ต่อมาศึกษาต่อที่โรงเรียนศึกษานารี เตรียมธรรรมศาสตร์ และได้ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา

ในปี พ.ศ. 2492 ท่านผู้หญิงชนัตถ์ เปิดโรงแรมปริ๊นเซสเป็นแห่งแรกขึ้นที่ถนนเจริญกรุง ซึ่งเป็นโรงแรมใจกลางเมืองแห่งแรก ๆ ที่มีสระว่ายน้ำ ลิฟต์ และเครื่องปรับอากาศ โดยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด[4] และดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ประสบความสำเร็จเป็นลำดับ ต่อมาในปี พ.ศ. 2513 ทำการเปิดโรงแรมดุสิตธานี และได้ขยายกิจการธุรกิจบริการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งยังได้ก่อตั้งวิทยาลัยดุสิตธานี สถาบันการศึกษาด้านการโรงแรมและบริหารการท่องเที่ยว และโรงเรียนสอนประกอบอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต นอกจากนี้ยังทำงานให้กับสมาคมและมูลนิธิต่าง ๆ เช่น ดำรงตำแหน่งประธานสหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ประธานกรรมการบริหารสวนหลวง ร.9 และประธานมูลนิธิคุณากร ในพระราชูปถัมภ์[5] ท่านผู้หญิงชนัตถ์เป็นบุคคลที่มีคุณูปการด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวและการโรงแรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยนำความรู้และประสบการณ์จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกามาประยุกต์ใช้ และได้รับรางวัลต่าง ๆ เช่น บุคคลผู้บำเพ็ญประโยชน์อย่างยิ่งแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ประจำปี พ.ศ. 2527, นักบริหารโรงแรม-นักธุรกิจสตรีแห่งปี ประจำปี พ.ศ. 2532 และรางวัล "SHTM Lifetime Achievement Award 2018" ประจำปี พ.ศ. 2561 จาก มหาวิทยาลัยโปลีเทคนิคฮ่องกง ที่มอบให้แก่ผู้ประสบความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวและการโรงแรมระดับโลก โดยเป็นสุภาพสตรีเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลทรงเกียรตินี้

ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย สมรสกับปวิต โทณวณิก บุตรของพระยาโทณวณิกมนตรี (วิสุทธิ์ โทณวณิก) ผู้ก่อตั้งสถานธนานุเคราะห์ อดีตประธานธนาคารศรีนคร ชีวิตสมรสของทั้งสอง ค่อนข้างลุ่ม ๆ ดอน ๆ มาตลอด เนื่องจากอุปนิสัยที่ค่อนข้างแตกต่างกัน เพราะพื้นฐานการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันอย่างมาก จึงเป็นชนวนให้ชีวิตสมรสมีอันต้องหย่าร้างกันในที่สุด ชนัตถ์บอกว่า เธอไม่พอใจที่ปวิตไปค้ำประกันซื้อของให้ญาติคนหนึ่งแล้วตัวเองต้องมาเป็นผู้รับใช้ ซึ่งเธอเคยประสบปัญหานี้มาแล้วกับพ่อที่ต้องล้มละลายเนื่องจากไปช่วยเหลือเพื่อน

ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย มีบุตรธิดา 3 คน คือ ชนินทธ์ โทณวณิก, สินี เธียรประสิทธิ์ และสุนงค์ สาลีรัฐวิภาค

ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ถึงแก่อนิจกรรมเนื่องจากระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 สิริอายุ 99 ปี ต่อมาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ปีเดียวกัน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เพื่อพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย[6]