ทะเลสาบมันสาคร ของ ชลมหัล

เขื่อนมันสาคร

ทะเลสาบมันสาคร (Man Sagar) ตั้งอยู่บริเวณทิศเหนือของชัยปุระ ระหว่างเมืองหลวงเก่าคือ แอมแมร์ กับชัยปุระซึ่งเป็นเมืองหลักของรัฐราชสถานในปัจจุบัน กินพื้นที่กว้างถึง 300 เอเคอร์ (121 เฮกตาร์) และติดกับเทือกเขาอะราวัลลีทางทิศเหนือ ตะวันตก และตะวันออก ในขณะที่ทางทิศใต้นั้นประกอบด้วยที่ราบสูงที่ไม่มีผู้อยู่อาศัย ป้อมนหาร์การห์ซึ่งตั้งตะหง่านอยู่บนเทือกเขาด้านบนนั้นสามารถมองเห็นทิวทัศน์บริเวณทะเลสาบนี้ได้เป็นอย่างดี รวมถึงทิวทัศน์ของชัยปุระอีกด้วย โดยทะเลสาบแห่งนี้เกิดขึ้นโดยการสร้างเขื่อนเพื่อกั้นข้ามแม่น้ำดาร์ภวาตี (Darbhawati) ระหว่างเทือกเขาขิลาการห์ และเขานหาร์การห์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 พื้นที่รับน้ำของทะเลสาบนั้นมีขนาดประมาณ 23.5 ตารางกิโลเมตร (9.1 ตารางไมล์) แบ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยประมาณร้อยละ 50 ที่เหลือเป็นพื้นที่ราบสูงสลับเนินเขาของเทือกเขาอะราวัลลี บริเวณทะเลสาบนี้มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 657.4 มิลลิเมตร (25.88 นิ้ว) ต่อปี (ร้อยละ 90 ของปริมาณน้ำฝนเกิดขึ้นระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน) บริเวณเขื่อนมีประตูระบายน้ำสำหรับการชลประทานซึ่งเก็บกักน้ำไว้บริเวณอ่างเก็บน้ำ (ซึ่งจำนวนความต้องการใช้น้ำนั้นมีถึง 2,410,000 ลูกบาศก์เมตรในระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม) นอกจากนี้ยังมีกระแสน้ำซึ่งไหลมาจากแม่น้ำพรหมบุตร และนักทะลัย ซึ่งยังมีรายงานถึงน้ำเสียซึ่งไหลมาและยังไม่ได้ถูกบำบัด ซึ่งประกอบด้วยโลหะปนเปื้อนเข้ามายังทะเลสาบด้วย[3][4][5][6]

ในอดีตนั้นทะเลสาบแห่งนี้เคยมีปริมาณน้ำที่น้อยกว่านี้มาก ในปีค.ศ. 1596 ได้มีภัยแล้งเกิดขึ้นจึงมีการขาดแคลนน้ำขึ้นในภูมิภาคแถบนี้ ซึ่งมหาราชาแห่งแอมแมร์นั้นก็มิได้ทรงนิ่งนอนพระราชหฤทัย ทรงให้สร้างเขื่อนเพื่อเก็บกักน้ำสำหรับเมืองแอมแมร์ของพระองค์ โดยเขื่อนนั้นสร้างขึ้นจากดินและหิน ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันออกของหุบเขาบริเวณร้อยต่อระหว่างหุบเขาแอมแมร์และอมาการห์ ซึ่งต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ได้ถูกปรับปรุงให้เป็นโครงสร้างหินอย่างแข็งแรงจนกระทั่งปัจจุบัน มีขนาดความยาว 300 เมตร (980 ฟุต) และกว้าง 28.5–34.5 เมตร (94–113 ฟุต)โดยมีทางระบายน้ำทั้งหมดสามแห่งสำหรับการชลประทานพื้นที่เกษตรกรรมบริเวณต้นน้ำ ต่อจากนั้นมา ทะเลสาบ เขื่อน และพระราชวังที่ตั้งอยู่กลางทะเลสาบนี้ก็ได้ผ่านการบูรณะมาหลายครั้งในหลายรัชสมัย โดยครั้งสุดท้ายที่ใหญ่ที่สุดนั้นเกิดขึ้นในรัชสมัยของมหาราชา สะหวาย จัย สิงห์ที่ 2 แห่งแอมแมร์ ซึ่งเป็นสมัยที่มีสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้นมากที่สุด อาทิเช่น ป้อมแอมแมร์ ป้อมชัยคฤห์ ป้อมนหาร์การห์ ป้อมขิลังการห์ เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันสถานที่เหล่านี้สามารถเดินทางเข้าถึงได้โดยสะดวกโดยทางถนน[6][7][1]