การแต่งกายของชาวกูย ของ ชาวกูย

การแต่งกายของชาวกูย หญิงสูงอายุจะนุ่งผ้าที่มีลายใส่เสื้อคอกระเช้า ใส่สร้อยคอลูกปัดเงิน นิยมใส่ดอกไม้หอมไว้ที่ติ่งหู ชาวกูยนิยมทอผ้า เช่น ผ้าจิกกะน้อย เป็นผ้าที่มีลักษณะคล้ายผ้าหางกระรอกมีสีเดียวเป็นผ้าสำหรับผู้ชายนุ่งในพิธีสำคัญๆ ลักษณะการนุ่งจะนุ่งพับจีบด้านหน้า เหมือนการนุ่งโสร่ง ผ้านุ่งสตรีนิยมทอหมี่คั่นเป็นทางแนวดิ่งยืนพื้นสีน้ำตาล มีหัวซิ่นพื้นสีแดงลายขิด ตีนซิ่นสีดำมีริ้วขาวเหลืองแดงผ้าจะกวี ผ้าที่สตรีใช้นุ่งในงานสำคัญๆ

ความเชื่อทางศาสนาของชาวกูยมีลักษณะผสมผสานระหว่างศาสนาพุทธและการนับถือผี (animism) และมีความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูบ้าง เช่น การบายศรีสู่ขวัญ การขึ้นบ้านใหม่ การแต่งงาน และอื่นๆ ภายในชุมชนชาวกูยจะมีทั้งวัดและศาลผีประจำหมู่บ้าน ชาวกูยบูชาผีบรรพบุรุษ ซึ่งเรียกว่า “ยะจัวะฮ” บนบ้านจะมีหิ้งบูชาผีบรรพบุรุษ มีธูปเทียนและกรวยที่เย็บจากใบตอง บางบ้านก็จะสร้างเป็นศาลผีบรรพบุรุษไว้ใกล้กับศาลเจ้าที่ บ้านที่ไม่มีหิ้งหรือศาลก็อาจจะไปไหว้ผีบรรพบุรุษที่หิ้งหรือศาลของญาติพี่น้อง บ้านส่วนใหญ่จะมีหิ้งบูชาพระพุทธรูปไว้ในบ้านและจะสร้างศาลผีบรรพบุรุษไว้ใกล้บ้าน การเซ่นบรรพบุรุษจะกระทำอย่างน้อยปีละครั้ง ชาวบ้านจะเริ่มพิธีโดยเอาข้าวที่สุกแล้ว กรวยใบตอง ผ้า สตางค์ หมากพลู เอามาวางไว้ใต้หิ้งบูชา ทำพิธีเซ่นโดยเอาน้ำตาลโรยบนข้าวสุก จุดเทียนปักลงที่ข้าว แล้วกล่าวขอให้ผีบรรพบุรุษคุ้มครองให้ครอบครัวเจริญรุ่งเรือง ในณะที่กล่าวก็เอาเหล้าค่อย ๆ รินลงขันอีกใบ เหมือนการกรวดน้ำเสร็จแล้วก็หยิบของที่ใช้เซ่นอย่างละนิดไปวางบนหิ้ง ที่เหลือก็เอาไว้รับประทานและใช้เอง

การเซ่นผีบรรพบุรุษนี้อาจจัดขึ้นในวาระอื่นๆ เช่น เมื่อมีเด็กคลอดได้ ๒-๓ วัน ก็จะทำพิธีดับไฟ โดยเชิญหมอตำแยและญาติผู้ใหญ่มาร่วมพิธี จัดขนม กล้วย ข้าวต้มมัด มาเซ่นผีบรรพบุรุษบอกว่ามีลูกมีหลานมาเกิดใหม่ เด็กเมื่อคลอดแล้ว จะมี “ครูกำเนิด” ซึ่งเป็นครูประจำตัว จะต้องจัดเครื่องสักการบูชาครูไว้บนหัวนอนของตนเองเสมอ ครูจะช่วยคุ้มครองให้มีความสุข ความเจริญ หากมีการผิดครูจะเป็นอันตราย นอกจากนี้อาจจัดให้มีการเซ่นผีบรรพบุรุษเมื่อมีแขกมาเยือนและพักอยู่ที่บ้าน เจ้าของบ้านจะต้องจัดเหล้า ขนม มาเซ่นไหว้และบอกกล่าวขออนุญาตผีบรรพบุรุษให้แขกเข้าพัก มีการบอกกล่าวว่าแขกเป็นใคร มาจากไหน มาทำอะไร เมื่อแขกมาถึง ก็มีการผูกข้อมือด้วยด้ายที่ย้อมสีเหลืองด้วยขมิ้นพร้อมให้ศีลให้พร

นอกจากวิญญาณของบรรพบุรุษแล้ว ชาวกูยยังเคารพนับถือวิญญาณทั่วไป ได้แก่ ภูติผีปีศาจ เจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขา เป็นต้น เมื่อจะประกอบการงานใดที่สำคัญเกี่ยวกับความสุขความเจริญจะต้องทำพิธีขจัดปัดเป่า ด้วยความกลัวว่าผีสางเทวดาจะให้โทษหรือมาขัดขวางการกระทำ เป็นที่น่าสังเกตว่าในพิธีกรรรมต่างๆเกือบทั้งหมดจะมีข้าวเป็นองค์ประกอบในการเซ่นสังเวยอยู่เสมอ เพราะข้าวเป็นอาหารหลักที่มีบุญคุณและเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในการเพาะปลูกข้าวเกือบทุกขั้นตอนจะมีการจัดพิธีกรรม สวดสรรเสริญหรือแสดงความเคารพข้าว (นิคม วงเวียน ๒๕๓๓) ชาวกูยยังมีความเชื่อในเรื่องผีปอบ จะเห็นได้ในกรณีที่เด็กคลอดแล้ว ต้องเอารกไปฝังไว้ใต้ถุนบ้าน เอาหนามไปวางทับไม่เช่นนั้นผีปอบจะเอาไปกิน แม่เด็กและทารกก็จะตาย นอกจากนี้ชาวกูยยังเชื่อเรื่องขวัญ หรือภาษากูยเรียกว่า “ระเวี๋ยย” ซึ่งเป็นคำรวมเรียกทั้งขวัญและวิญญาณ เช่น เด็กทารก จะมีข้อห้ามไม่ให้อุ้มออกไปเดินผ่านเนินดินเผาผี (บลุฮ กระโมจ) ซึ่งเป็นเนินทุ่งนาใช้เผาศพคนทั่วไปแห่งหนึ่ง บางหมู่บ้านจะมี บลุฮ กระโมจ ๒ แห่ง สำหรับเผาศพคนทั่วไปแห่งหนึ่ง และอีกแห่งหนึ่งใช้เฉพาะเผาศพคนที่มีความสำคัญที่เป็นที่นับถือกันในหมู่บ้าน ถ้าอุ้มเด็ก ผ่านเนินดินนี้ต้องเรียกขวัญให้กลับมา เรียกว่า “มาเยอขวัญเอย” แล้วบอกชื่อเด็ก เดินไปพูดไป ถ้าไม่เรียกขวัญ ขวัญจะอยู่แถวนั้นไม่ตามเด็กไป เด็กก็จะไม่สบาย การทำพิธีสู่ขวัญมักจะพบในวาระที่สำคัญต่าง ๆ เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งามศพ เมื่อทารกแรกเกิด การรักษาคนเจ็บเป็นต้น

ในหมู่บ้านจะมีแม่เฒ่าที่ทำหน้าที่ดูว่าความเจ็บไข้ หรือปัญหาที่มีเกิดจากอะไร โดยให้นำข้าวสาร ๑ ถ้วย และสตางค์ ๑ บาท วางบนข้าวแล้วนำไปวางไว้หน้ามาเฒ่า แม่เฒ่าจะเอาข้าวสารนั้นโปรยไปรอบข้างตัวพร้อมพูดคาถาพึมพำ แล้วเอาข้าวสารเล็กน้อยใส่ในฝ่ามือซ้าย แล้วจับฝากระปุกปูนแกว่งค่อยๆ เหนือข้าวสารนั้น แล้วทำนายสาเหตุของปัญหา ถ้าใช่สาเหตุที่ทำนาย ฝากระปุกปูนจะแกว่งแรงขึ้น ชาวกูย เรียกการทำนายนี้ว่า “โปล” นอกจากนี้ก็มีผู้เก่งทางไสยศาสตร์เรียกว่า “ถัม” บางห่งก็เรียกว่า “อาจารย์” ซึ่งเป็นผู้ชายที่มีคาถาอาคมสามารถดูให้ได้ว่าชาวบ้านไปถูกของอะไรมา และจะแก้ไขได้อย่างไร

การเจ็บไข้อาจทำให้บรรเทาได้โดยการจัดพิธีกรรมรักษาคนป่วย เพราะเชื่อว่าการเจ็บป่วยเกิดจากการกระทำของภูติผี จึงมีการทำพิธีอ้อนวอนให้ภูตผีพอใจ โดยจัดให้มีการรำผีมอ ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆรำผีฟ้าของกลุ่มที่พูดภาษาลาว การรำผีมอมีการสืบทอดรับช่วงกันมา ผู้ที่จะเป็นผีมอจะต้องผ่านพิธีไหว้ครูครอบครูเพราะจะทำให้ไม่มีใครกล้าประพฤติหรือเปลี่ยนแปลงพิธีกรรมที่เคยปฏิบัติกันสืบต่อกันมาเพราะกลัว “ผิดครู”

ที่อยู่อาศัยบ้านของชาวกูยมีลักษณะใต้ถุนสูงด้านหน้าจะสูงเอาไว้เลี้ยงช้างใต้ถุนใช้เป็นที่วางหูกทอผ้าวาง กระด้ง ไหม และวัสดุเครื่องใช้สานด้วยหวายหรือไม้ไผ่ ชาวกูย บางบ้านจะแบ่งส่วนหนึ่งที่ติดตัวบ้านเป็นยุ้งข้าว บางบ้าน สร้างแยกต่างหาก(โสฬสและคณะ ๒๕๓๘, น.๒๑)