วัฒนธรรม ของ ชาวลื้อ

ชาวไทลื้อมีชีวิตที่คล้ายคลึงกับชาวไทยหรือชนเผ่าอื่นในภูมิภาค คือมีการสร้างบ้านเรือนเป็นบ้านไม้ มีใต้ถุนสูง มีครัวไฟบนบ้าน ใต้ถุนเลี้ยงสัตว์ แต่ในปัจจุบันวิถีชีวิตได้เปลี่ยนไป การสร้างบ้านเรือนก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย เรือนที่ยังคงสภาพเป็นเรือนไม้แบบเดิมสถาปัตยกรรมแบบไทลื้อผสมล้านนายังพอจะมีให้เห็นบ้างในบางชุมชน เช่น บ้านธาตุสบแวน และบ้านหย่วน อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

ชาวไทลื้อส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัด นิยมสร้างวัดในชุมชนต่างๆ แทบทุกชุมชนของชาวไทลื้อ ทั้งยังตกแต่งด้วยศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์งดงาม มีการบูรณะ ซ่อมแซม ให้คงสภาพดีอยู่เสมอ ซึ่งปัจจุบันเหลืออยู่เพียงบางแห่ง เช่น วิหารวัดดอนมูล วิหารวัดหนองแดง วิหารวัดหนองบัว วิหารวัดท่าฟ้าใต้ วิหารวัดแสนเมืองมา(วัดมาง) วิหารวัดหย่วน เป็นต้น

ศิลปะที่โดดเด่นของชาวไทลื้อได้แก่งานผ้าทอไทลื้อ นิยมใช้ผ้าฝ้าย บางสมัยนิยมใช้เส้นไหมจากต่างถิ่น ทอลวดลายที่เรียกว่า "ลายเกาะ" ด้วยเทคนิคการล้วง ซึ่งปัจจุบันนิยมเรียกว่า ลายน้ำไหล มีการฟื้นฟูและถ่ายทอดศิลปะการทอผ้าแบบไทลื้อในหลายชุมชนของภาคเหนือในปัจจุบัน

ผู้ชายไทลื้อส่วนใหญ่จะนิยมสวมเสื้อขาวแขนยาว สวมทับด้วยเสื้อกั๊กปักลวดลายด้วยเลื่อม เรียกว่า "เสื้อปา" สวมกางเกงหม้อห้อมขายาวต่อหัวกางเกงด้วยผ้าสีขาว เรียกว่า "เต๋วหัวขาว" นิยมโพกศีรษะ ("เคียนหัว") ด้วยผ้าสีขาว สีชมพู ส่วนหญิงไทลื้อนิยมสวมเสื้อปั๊ด (เป็นเสื้อที่ไม่มีกระดุมแต่สาบเสื้อจะป้ายเฉียงมาผูกไว้ที่เอวด้านข้าง) นุ่งต๋าลื้อ สะพายกระเป๋าย่าม ("ถุงย่าม")และนิยมโพกศีรษะด้วยผ้าสีขาวหรือสีชมพู[4]

ชาวไทลื้อในสิบสองปันนาบางส่วนได้สมรสกับชาวหุยและเข้ารีตเป็นมุสลิม พวกเขาจะเรียกแทนตัวว่า "ไทหุย" พูดภาษาและแต่งกายอย่างไทลื้อแต่สวมหมวกและมีผ้าคลุมศีรษะ ในปี พ.ศ. 2553 มีจำนวนไทหุยทั้งหมด 743 คน ตั้งถิ่นฐานที่หมู่บ้านหม่านล้วนหุย และบ้านหม่านซ่ายหุยในเขตเมืองฮาย[5]