ประวัติ ของ ชาวไทพวน

พวน (Phuen, Puen) เป็นคำที่เรียกกลุ่มชนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแคว้นเชียงขวางหรือบริเวณที่ราบสูง ในประเทศสาธารณรัฐธิปไตยประชาชนลาว มีอาณาเขตติดต่อกับญวน ได้ชื่อว่าพวน เพราะเชียงขวางมีแม่น้ำสายสำคัญไหลผ่านพื้นที่ ชื่อแม่น้ำพวน ชาวพวนนิยมตั้งถิ่นฐานสร้างที่ทำกิน บริเวณลุ่มแม่น้ำ ด้วยมีอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ไถนา ชาวพวนได้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยหลายครั้งด้วยกัน คือ สมัยกรุงธนบุรีตอนปลาย สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในครั้งที่ไทยยกทัพไปปราบฮ่อ เมื่ออพยพมาอยู่ในประเทศไทย จึงเลือกสถานที่สร้างบ้านเรือนอยู่ตามแม่น้ำลำคลอง สังเกตได้จากชาวไทยพวนอำเภอปากพลี จะสร้างบ้านอยู่ตามลำคลองตลอดแนว ตั้งแต่ตำบลหนองแสง ตำบลเกาะหวาย ตำบลเกาะโพธิ์ จนถึงตำบลท่าเรือ เป็นต้น ที่อำเภอเมืองนครนายก จะมีชาวไทยพวนอาศัยอยู่ที่ตำบลสาริกาและตำบลเขาพระชาวไทยพวนในจังหวัดนครนายก เชื่อกันว่า อพยพเข้ามาในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ประมาณ ปี พ.ศ. 2322 เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงโปรดเกล้าให้ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ยกทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์และหัวเมืองต่างๆ ซึ่งมีชื่อเรียกรวมกันว่า หัวพันทั้งห้าทั้งหก ประกอบด้วย เมืองคำม่วน เมืองคำเกิด เมืองเวียงไชย เมืองไพศาลลี เมืองซำเหนือ และเมืองเชียงขวาง ได้กวาดต้อนเอาลาวเวียง(ลาวเวียงจันทน์) ลาวพวนและไทดำ(ปัจจุบันนิยมเรียกว่าไทยทรงดำ หรือ ลาวโซ่ง) มาไว้ที่เมืองร้าง (เพราะถูกพม่ากวาดต้อนราษฎรไปตั้งแต่สมัยกรุงศรัอยุธยาเสียแก่พม่า เมื่อ พ.ศ. 2310) เช่นเมืองสระบุรี ลพบุรี นครนายก และฉะเชิงเทรา ระยะที่สอง ในราวปี พ.ศ. 2335 สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมืองแถงและเมืองพวนแข็งข้อต่อเมืองเวียงจันทน์ เจ้าเมืองเวียงจันทน์จึงได้ยกทัพไปปราบ และกวาดต้อนครอบครัวไทดำและลาวพวนส่งมากรุงเทพฯ ลาวทรงดำถูกส่งไปอยู่ที่เพชรบุรี ลาวพวนถูกส่งมาที่เมืองลพบุรี สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ราชบุรีและจันทบุรี ด้วย ระยะที่สาม ในราวปี พ.ศ. 2370 เจ้าอนุวงศ์เมืองเวียงจันทน์ ก่อกบฏต่อกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าให้พระยาราชสุภาวดี(เจ้าพระยาบดินทรเดชา) เป็นแม่ทัพ ขึ้นไปปราบกบฏ และได้กวาดต้อนครอบครัวลาวพวนมาไว้ที่อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดสระแก้ว จังหวัดลพบุรี และจังหวัดพิจิตร เป็นต้น ชาวไทยพวน มีอุปนิสัยยิ้มแย้มแจ่มใส โอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และรักสงบ ยึดมั่นใน ขนบธรรมเนียมประเพณี มีวัฒนธรรม มีภาษา มีความผูกพันในระบบเครือญาติ เผ่าพันธุ์ เป็นเอกลักษณ์ของตนเองมาช้านาน ชาวไทยพวนจะพูดได้ทั้งภาษาไทยกลาง และภาษาไทยพวน โดยจะใช้ภาษาไทยกลางพูดกับคนต่างถิ่น แต่จะพูดภาษาไทยพวนกับกลุ่มชนเดียวกัน ภาษาพูดของไทยพวนมีสำเนียงไพเราะ ซึ่งจะแตกต่างจากภาษาพูดของลาวเวียง ที่มีสำเนียงสั้นๆห้วนๆ

แหล่งที่มา

WikiPedia: ชาวไทพวน http://www.lannaworld.com/cgi/lannaboard/reply_top... http://www.sathorngoldtextilemuseum.com/thai-phuan... http://www.suntreethai.com/learning_culture.php http://www.kasetsomboon.org/%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%... http://www.kasetsomboon.org/th/joomla-license/2009... http://gi.bru.ac.th/gis/dr/files/16/14.pdf http://www.stou.ac.th/Offices/rdec/nakornnayok/Mai... http://library.tru.ac.th/il/lpcul11.html http://library.tru.ac.th/inlop/lpcul/310-lpcul11.h...