ชีวิต ของ ชฺวี_ยฺเหวียน

ฉื่อจี้ ของซือหม่า เชียน เป็นแหล่งข้อมูลหลักแหล่งเดียวเกี่ยวกับชีวิตของชฺวี ยฺเหวียน[7] เอกสารนี้ระบุว่า ชฺวี ยฺเหวียน เป็นสมาชิกราชสกุลหมี่ (芈) แห่งรัฐฉู่ (楚国) และรับราชการในรัชสมัยพระเจ้าฉู่หฺวาย (楚懷王) ซึ่งครองราชย์ช่วง 328–299 ปีก่อนคริสตกาล

ต้นรัชกาลพระเจ้าฉู่หฺวาย ชฺวี ยฺเหวียน ดำรงตำแหน่งเสนาซ้าย (左徒)[1] ต่อมา เขาถูกให้ร้ายจนพระเจ้าฉู่หฺวายเนรเทศเขาไปยังดินแดนทางเหนือแถบแม่น้ำฮั่น (漢江)[1] ภายหลัง พระเจ้าฉู่หฺวายเรียกเขากลับมาเป็นทูตไปรัฐฉี (齐国)[8] เพื่อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐฉู่กับรัฐฉี[9]

เมื่อพระเจ้าฉู่หฺวายสิ้นพระชนม์แล้ว พระโอรสสืบราชย์ต่อเป็นพระเจ้าฉู่ฉิ่งเซียง (楚頃襄王) ชฺวี ยฺเหวียน ถูกให้ร้ายอีกครั้ง[8] ครั้งนี้ เขาถูกขับไล่ไปยังดินแดนทางใต้แถบแม่น้ำฉาง (长江)[8] ว่ากันว่า ชฺวี ยฺเหวียน แวะบ้านเกิดเป็นอันดับแรก และระหว่างถูกเนรเทศนั้น เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการรวบรวมและเรียบเรียงตำนานพื้นบ้านต่าง ๆ ที่รับรู้มาจากการท่องชนบท ทั้งยังประพันธ์ร้อยกรองหลายบท แต่ก็แสดงความห่วงใยในบ้านเมืองอยู่ไม่วาย[8] เขากังวลเกี่ยวกับแผ่นดินของตนจนสุขภาพย่ำแย่ และในช่วงเวลาที่หดหู่ ก็มักเดินทอดน่องไปแถวบ่อน้ำแห่งหนึ่ง แล้วจ้องดูเงาสะท้อนในน้ำอยู่นาน

ใน 278 ปีก่อนคริสตกาล เมื่อทราบว่า อิ่ง (郢) เมืองหลวงของรัฐฉู่ ถูกขุนพลไป๋ ฉี่ (白起) แห่งรัฐฉิน (秦国) ตีแตก ชฺวี ยฺเหวียน ก็เขียนเพลงยาวชื่อ อายอิ่ง (哀郢; "อิ่งโศก") แล้วแบกก้อนหินเดินลุยแม่น้ำมี่หลัว (汨羅江) ลงไปจนจมน้ำตาย

เหตุผลที่เขาฆ่าตัวตายเป็นที่ถกเถียงมาแต่โบราณ ปรัชญาเมธีจู ซี (朱熹) แห่งราชวงศ์ซ่ง เสนอว่า เป็นเพราะทุกข์ตรมเกี่ยวกับบ้านเมือง แต่เอกสาร อฺวี๋ฟู่ (漁父) กล่าวว่า การฆ่าตัวตายของเขาเป็นหนทางสุดท้ายที่เขาจะปกป้องความบริสุทธิ์ใจและหลักการดำรงชีวิตของตนเอง