วัฒนธรรม ของ ช้างเผือก

"ธงช้าง" ลักษณะเป็นรูปช้างเผือกเปล่า ยืนหันหน้าให้เสา บนพื้นธงสีแดงเกลี้ยง ใช้เป็นธงชาติสยาม พ.ศ. 2398 - 2459เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก

ช้างเผือกถือเป็นสิ่งสำคัญของชาติไทย เริ่มจากการนำรูปช้างเผือกติดไว้บนธงสีแดง ซึ่งเดิมถือเป็นธงประจำชาติไทย ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นธงไตรรงค์ การกำหนดไว้ในเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกทั้ง 8 ชั้น ชั้นสูงสุด คือ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.) การสร้างเหรียญกษาปณ์ไทย ธนบัตรรูปช้างสามเศียร และแสตมป์ที่มีรูปช้าง การสร้างภาพยนตร์ไทยเรื่องพระเจ้าช้างเผือก ตราสมาคมต่างๆ นอกจากนี้ตราช้างเผือกยังได้รับราชทานพระบรมราชานุญาตจากรัชกาลที่ 6 ให้ใช้เป็นตราประจำกองลูกเสือของอังกฤษ "King of Siam's Own Troop of Boy Scouts" หรือ "K.S.O." อีกด้วย

ในปัจจุบัน ยังนำคำว่า "ช้างเผือก" มาใช้ในแวดวงการศึกษาและแวดวงกีฬา โดยเปรียบเปรยถึงเยาวชนซึ่งอาศัยอยู่ต่างจังหวัดที่เรียนเก่งระดับหัวกะทิ หรือมีความสามารถทางกีฬาเป็นเลิศ และได้โควตาพิเศษเข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพฯ หรือมาเป็นนักกีฬาทีมชาติตามโครงการช้างเผือก[3]

ในภาษาอังกฤษคำว่า "white elephant" มีความหมายในเชิงลบ ซึ่งหมายถึงของที่ใหญ่และหายาก แต่มักจะไม่มีใครต้องการ เนื่องจากต้องเสียค่าดูแลหรือค่าบำรุงสูง มีที่มาจากการมอบของหรือสิ่งใดให้กับศัตรูหรือผู้ที่ไม่ชอบ ซึ่งคนผู้นั้นจะถูกบังคับให้ต้องดูแลสิ่งของหายากนั้นไปโดยปริยาย และสูญเสียเงินในการดูแลจนล้มละลาย[4]