ซอมบีในลัทธิวูดู ของ ซอมบี

ในลัทธิวูดูนั้น ซอมบีเป็นศพที่ถูกปลุกให้กลับมาอีกครั้งโดยพ่อมดที่เรียกว่า "บอคอร์" (Bokor) ซอมบีนั้นไม่มีความคิดของตนเองและจะทำงานรับใช้ตามที่เจ้านายต้องการ เชื่อกันว่าถ้าให้ซอมบีกินเกลือแล้ว ซอมบีก็จะกลับไปตายที่หลุมศพของตนอีกครั้ง

ในปี ค.ศ. 1937 โซรา เนียล เฮิร์สตัน ซึ่งกำลังศึกษาเรื่องคติชนวิทยาของประเทศเฮติได้พบกับสตรีที่ครอบครัวอ้างว่าเป็นซอมบีของเฟลิเซีย เฟลิกซ์ เมนเทอร์ ซึ่งเสียชีวิตและได้รับการฝังเมื่อสามสิบปีก่อนหน้านั้น เฮิร์สตันได้ตามสืบข่าวลือเรื่องของคนที่ถูกยาที่มีผลทางจิตเข้าไป แต่ก็ไม่สามารถหาผู้ที่ยอมให้ข้อมูลที่ชัดเจนได้ เธอเชื่อว่ารากฐานของลัทธิวูดูนั้นน่าจะเป็นแพทยศาสตร์ที่มีการใช้ยาซึ่งวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้จักมากกว่าจะเป็นพิธีกรรม[4]

เวท ดาวิส ได้เขียนถึงเรื่องซอมบีในทางแพทยศาสตร์จากประสบการณ์ที่เดินทางไปเฮติในปี ค.ศ. 1982 ไว้ในหนังสือสองเล่มคือ The Serpent and the Rainbow และ Passage of Darkness: The Ethnobiology of the Haitian Zombie ดาวิสระบุว่าซอมบีนั้นเกิดจากผงแป้งสองชนิดเข้าไปในกระแสเลือด โดยแป้งชนิดแรกคือ coup de poudre ซึ่งมีพิษที่เรียกว่า tetrodotoxin ซึ่งเป็นพิษกับระบบประสาทและพบได้ในเนื้อของปลาปักเป้า ส่วนแป้งประเภทที่สองนั้นเป็นยากล่อมประสาท เมื่อใช้รวมกันแล้ว บอคอร์จะสามารถควบคุมเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายได้

ดาวิสบรรยายถึงกระบวนการนี้ว่า ก่อนอื่นนั้นผู้เป็นซอมบีจะอยู่ในสภาพเหมือนตาย จากนั้นก็จะตื่นขึ้นมาด้วยสภาพจิตใจที่สับสน และบอคอร์ก็จะใช้ยาและการสะกดจิตซึ่งเสริมโดยความเชื่อของเฮติให้คิดว่าตนตายไปแล้วและกลายเป็นซอมบี

ซอมบิ (zombi) ยังเป็นชื่อหนึ่งของโลอา งูดัมบาลา (Damballah) ซึ่งมีต้นกำเนิดจากแถบไนเจอร์-คองโก ลัทธิวูดูในแอฟริกาตะวันตก