การตอบรับ ของ ซัมเมอร์_วอร์ส

การตอบสนองเชิงวิพากษ์

นับแต่เผยแพร่ในปี 2552 เป็นต้นมา อนิเมะนี้ได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ในทางบวกเป็นการทั่วไป เว็บไซต์รอตเทนโทเมโทส์ (Rotten Tomatoes) กล่าวว่า นักวิจารณ์ร้อยละเจ็ดสิบหกวิจารณ์อนิเมะเรื่องนี้ในทางชื่นชมสรรเสริญ และคะแนนเต็มสิบให้เจ็ด[47] ขณะที่เว็บไซต์เมตาคริติก (Metacritic) ซึ่งจัดให้มีการวิจารณ์โดยใช้เกณฑ์มาตรฐาน ระบุว่า มีนักวิจารณ์กระแสหลักสิบสองคนร่วมวิจารณ์ และให้อนิเมะนี้ได้คะแนนหกสิบจากคะแนนเต็มหนึ่งร้อย จึงจัดว่า อนิเมะนี้ "เป็นที่พึงพอใจโดยทั่วกัน"[48]

มาร์ก ชิลลิง (Mark Schilling) จากเดอะเจแปนไทมส์ (The Japan Times) เขียนบทความชื่อ "เราอาจจะได้ราชาอนิเมะคนใหม่แล้ว โฮะโซะดะก้าวพ้นจากความครอบงำของมิยะซะกิพร้อมภาพยนตร์เรื่องใหม่อันชวนอัศจรรย์ใจ" ("The future king of Japanese animation may be with us; Hosoda steps out of Miyazaki's shadow with dazzling new film") โดยวิพากษ์วิจารณ์ว่า อนิเมะนี้ "มีองค์ประกอบอันชินตา กล่าวคือ เริ่มเรื่องด้วยวีรบุรุษอ่อนวัยมีอุปนิสัยช่างประหม่าและทะเล่อทะล่า แต่ได้ใช้องค์ประกอบเช่นว่านั้นไปในวิถีทางอันแปลกใหม่ ร่วมสมัย และชวนฝันใฝ่อย่างน่าพิศวง" เขายังว่า อนิเมะได้แฝงไว้ซึ่งข้อคิดเห็นของสังคมเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่าง "โลกเสมือน" กับ "โลกแห่งเครื่องมือทางดิจิทัล" และสดุดีซะดะโมะโตะ อะโอะยะมะ กับนิชิดะที่สร้างสรรค์ "ฉากเคลื่อนไหวอันวิจิตรตระการตา อาการที่ฉากเหล่านี้เคลื่อนไหวต่อเนื่องอย่างงามเลิศเลอ และได้รับการประดิดประดอยอย่างวิเศษโดยไร้ขีดจำกัดนั้น ยังให้อนิเมะแนวไซไฟ/จินตนิมิตบ้าน ๆ กลายเป็นมีลักษณะอย่างเด็กไม่ประสีประสาขึ้นมา" ในการนี้ จากคะแนนเต็มห้า เขาให้อนิเมะนี้ห้าเต็ม[49]

กิลเลม รอสเซ็ต (Guillem Rosset) เขียนบทวิจารณ์ซึ่งทวิตช์ฟิล์ม (Twitch Film) เผยแพร่ ชื่นชมโฮะโซะดะว่าเป็น "ราชาองค์ใหม่ผู้เล่าขานเรื่องราวโดยอาศัยการทำงานภายใต้สื่อเคลื่อนไหวได้อย่างเอกอุในประเทศญี่ปุ่น และจะรวมถึงในโลกก็ได้" กับทั้งสรรเสริญอนิเมะว่า "ลงรายละเอียดได้ดีและเขียนเรื่องได้อย่างงดงาม...จึงเจริญตาน่าชมดู" และ "มากไปด้วยตัวละครกลุ่มใหญ่ซึ่งมีรายละเอียดแสนพิสดารและบริสุทธิ์" รอสเซ็ตสรุปว่า "โฮะโซะดะถ่วงดุลความต้องการสร้างความบันเทิงผ่านทัศนียภาพ กับงานสร้างตัวละครอันมากหลายและเป็นที่น่าพึงพอใจ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เป็นเหตุให้เขาไม่ถูกกลืนไปด้วยเหล่านักเทคนิคผู้มากฝีมือที่มีอยู่เป็นจำนวนมหึมา ส่งผลให้เขาได้เป็นนักบอกเล่าเรื่องราวผู้เป็นเลิศโดยแท้จริง"[50] รอสเซ็ตยังว่า "ข้อดีเด่นยิ่งนักข้อหนึ่งของอนิเมะนี้ คือ กลุ่มตัวละครที่เลอเลิศ" และเน้นย้ำเกี่ยวกับอ็อซ นครเสมือน ว่า "ณ นครนี้ เหล่าผู้มีจิตใจสร้างสรรค์ในบริษัทแมดเฮาส์สามารถปล่อยปละให้จินตนาการของพวกเขาโลดแล่นไปโดยมิต้องควบคุม" ส่วนในประเด็นทางวิชาการนั้น เขาว่า อนิเมะนี้เป็น "รายการโสตทัศน์ชั้นสูงสุด" และว่า "มะโมะรุ โฮะโซะดะ สมควรจะเป็นที่หนึ่งในบรรดาชาวญี่ปุ่นนักสร้างภาพเคลื่อนไหวร่วมสมัยแถวหน้าได้ และเป็นการดียิ่งนักที่ได้ตระหนักทราบว่า เมื่อถึงคราวซึ่งมิยะซะกิต้องแขวนนวม (หวังว่ามิใช่เร็ว ๆ นี้!) ก็ยังมีคนที่สามารถเจริญรอยตามเขาได้อยู่"[50]

หนังสือพิมพ์เฮรอลด์บีซีเนส (Herald Business) ของสาธารณรัฐเกาหลีมองว่า แก่นเรื่องแนวจินตนิมิตและภาพเคลื่อนไหวอันบรรเจิดของอนิเมะนี้ยังให้อนิเมะมีความแตกต่างจากผลงานของเหล่าสตูดิโอในฮอลลิวูด[35]

แพทริก ดับเบิลยู. กัลเบรธ (Patrick W. Galbraith) แห่งโอะตะกุ2.คอม (Otaku2.com) ว่า รูปลักษณ์ของอ็อซ นครเสมือนจริง มีส่วนคล้ายคลึงกับงานศิลป์ของจิตรกรมุระกะมิ ส่วนเนื้อเรื่องและตัวละครนั้น กัลเบรธว่า "ฉากเช่นครอบครัวใหญ่มาพร้อมหน้าและโอภาปราศรัยกันหลังมื้อเย็นนั้นช่างยังให้ใจชื้นและครื้นเครงดี" โดยเปรียบอนิเมะนี้ว่าเป็นประหนึ่ง "สมุดภาพอันเคลื่อนไหวได้ สมุดที่เก็บภาพครอบครัวย้อนหลังไปหลายทศวรรษ" เขายังอ้างว่า หลายคนชมอนิเมะแล้วก็ตัดสินใจย้ายไปตั้งถิ่นฐานในเมืองนะงะโนะถึงเพียงนั้น และกล่าวว่า "งานชิ้นนี้มีความบริสุทธิ์และหมดจดอันชวนให้หวนคำนึงถึงฮะยะโอะ มิยะซะกิ (Hayao Miyazaki) และสตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) ขึ้นมา กับทั้งฉากหลังอันระยิบระยับนั้นก็นำพาให้ใคร่ครวญถึงมะโกะโตะ ชินไก (Makoto Shinkai)"[51]

จัสติน เซวาคิส (Justin Sevakis) จากเครือข่ายข่าวอนิเมะ (Anime News Network) ให้คะแนน 'ก' ('A') แก่อนิเมะนี้ และเขียนว่า "ในอีกหลายสิบปีจากนี้ไป ซัมเมอร์ วอร์ส จะเป็นเครื่องสำแดงว่า มะโมะรุ โฮะโซะดะ ได้ก้าวย่างมาถึงดินแดนแห่งบรรดาผู้กำกับอนิเมะที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แล้วอย่างเป็นทางการ" เซวาคิสยังว่า อนิเมะนี้ "เกลี่ยการแดกดันสังคมและบันเทิงคดีแนววิทยาศาสตร์ให้กลืนกันได้เกือบดีเยี่ยมโดยสอดคล้องกับกาลสมัยแต่ไม่จำกัดอยู่กับวารโอกาสใด ๆ เป็นเชิงเย้ยหยันอยู่ในทีและก็ตั้งอยู่บนทัศนคติที่ดี" และชมเชยตัวละครอันเป็นผลงานการออกแบบของซะดะโมะโตะกับเน้นย้ำทัศนียภาพทั้งหลายว่า "หลักแหลมและเยี่ยมยอดอย่างสอดรับกัน" เซวาคิสกล่าวตอนท้ายว่า อนิเมะนี้ "สนุกสนานอย่างเหลือเชื่อ และประเทืองปัญญาน่าใฝ่ใจ สามารถเข้าใจได้และดำเนินเรื่องเร็วดี หาที่ติไม่ค่อยจะได้"[52]

ราเชล ซอลซ์ (Rachel Saltz) แห่งเดอะนิวยอร์กไทมส์ (The New York Times) เป็นนักวิจารณ์อีกหนึ่งคนที่ยกย่องอนิเมะนี้ ซอลซ์ว่า โฮะโซะดะกำกับได้ดี และว่า การกำกับของเขานั้น "ลงรอยกับภาพลักษณ์ในชีวิตภายนอกของเขาที่มีความสะอาดและสงบตามแบบฉบับ" เธอยังสดุดีทัศนียภาพและแก่นของเรื่อง กับทั้งเปรียบเทียบสิ่งเหล่านี้กับบรรดาที่ผู้กำกับยะซุจิโร โอะซุ (Yasujirō Ozu) สร้างสรรค์ด้วย[53]

ปีเตอร์ เดบรูจ (Peter Debruge) เขียนบทความให้แก่นิตยสารวาไรอิตี (Variety) ว่า ผลงานนี้ของโฮะโซะดะ "จะเป็นที่สนใจของเหล่าวัยรุ่นซึ่งเอาใจยาก โดยจะช่วยลบคติที่มีผลกระทบต่อจิตใจและช่วยให้พวกเขาเจริญวัยอยู่ภายในสภาพแวดล้อมร่วมสมัยที่เกี่ยวข้อง" เขายังชื่นชมการสร้างภาพเคลื่อนไหวด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกและฉากในอ็อซด้วย[54]

ปีเตอร์ ฮาร์ตโลบ (Peter Hartlaub) จาก ซานฟรานซิสโกโครนิเคิล (San Francisco Chronicle) ว่า รูปแบบของโฮะโซะดะ "เพิ่มมิติให้แก่ตัวละครของเขาและฉากโรมรันพันพัวได้ถึงขนาดที่โลกจริงอันสงบราบคาบนั้นดูคล้ายดินแดนความฝัน" แต่เห็นว่า บุคลิกลักษณะของตัวละครเค็นจินั้น "ตอนต้นเหมือนพวกติดยาลงแดงไปสักนิด" ฮาร์ตโลปสรุปว่า อนิเมะนี้เป็น "ภาพยนตร์ประเภทสนุกและแปลกประหลาดซึ่งคุณจะไม่เจอบ่อยในสำนักศิลปะไหน ๆ ในช่วงปีนี้"[55]

ขณะที่ไท เบอร์ (Ty Burr) แห่งเดอะบอสตันโกลบ (The Boston Globe) ให้อนิเมะนี้สามคะแนนจากคะแนนเต็มสี่[56]

รายได้

ในประเทศญี่ปุ่น หลังฉายได้หนึ่งสัปดาห์ อนิเมะเรื่องนี้ทำรายได้ 1,338,772 ดอลลาร์สหรัฐ นับว่ามากเป็นอันดับที่เจ็ด[22][57] เมื่อลาโรงแล้ว รายได้สุทธิอยู่ที่ 4,742,592 ดอลลาร์สหรัฐ[3]

ในประเทศเกาหลีใต้ อนิเมะได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ 118 แห่ง ในสัปดาห์แรกทำรายได้ทั้งสิ้น 369,156 ดอลลาร์สหรัฐ จัดว่ามากเป็นอันดับที่แปด[58] เมื่อฉายแล้วสิ้น สร้างรายได้รวม 783,850 ดอลลาร์สหรัฐ[3]

ในประเทศสิงคโปร์ อนิเมะนี้เข้าฉาย ณ โรงภาพยนตร์สามแห่ง และรายได้ในสัปดาห์แรกอยู่ที่ 14,660 ดอลลาร์สหรัฐ ชื่อว่ามากเป็นอันดับที่สิบเจ็ด[59] และรายได้รวมอยู่ที่ 29,785 ดอลลาร์สหรัฐ[3]

ส่วนในสหรัฐอเมริกา อนิเมะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์เพียงบางแห่ง รายได้สัปดาห์แรกคือ 1,412 ดอลลาร์สหรัฐ ถือว่ามากเป็นอันดับที่เจ็ดสิบหก ครั้นพ้นกำหนดฉายแล้ว ทำรายได้รวม 86,708 ดอลลาร์สหรัฐ[2]

ในการนี้ รายได้ทั่วโลกคำนวณเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 ได้ 18,353,560 ดอลลาร์สหรัฐ[3]

รางวัล

ซัมเมอร์ วอร์ส เป็นอนิเมะเรื่องแรกที่ได้เข้าชิงรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโลการ์โน (Locarno International Film Festival) ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์[60][61] โดยได้รับการเสนอให้ได้รางวัลเสือดาวทองคำ (Golden Leopard award) ประจำปี 2552[62] แต่ไม่ชนะ กระนั้น หนังสือพิมพ์ ตรีบูนเดอเฌแนฟ (Tribune de Genève) ของสวิตเซอร์แลนด์ว่า "เป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่สุดที่มีอยู่ [ในบรรดาซึ่งเข้าร่วมชิงรางวัลนั้น]"[63] อนิเมะนี้ยังเปิดตัวต่อนานาชาติ ณ งานฉลองมังงะ (celebration of manga) ในเทศกาลดังกล่าว เพื่อเป็นเครื่องรำลึกถึงบทบาทของมังงะในโลกอุตสาหกรรมแอนิเมชันด้วย[61]

ต่อมาวันที่ 24 ตุลาคม 2552 กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry) ของญี่ปุ่นมอบรางวัลสื่อใหม่ (award for new media) ให้แก่อนิเมะเรื่องนี้ในการประชุมประจำปีของสมาคมสาระดิจิทัลแห่งญี่ปุ่น (Digital Content Association of Japan)[64]

ในปลายปี 2552 อนิเมะนี้ได้รับรางวัลเกอร์ตีว่าด้วยภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม (Gertie Award for Best Animated Feature Film) ณ เทศกาลภาพยนตร์ซิตเจส (Sitges Film Festival) ประเทศสเปน[65][66] ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเอเชียแปซิฟิกสกรีน (Asia Pacific Screen Awards) สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม แต่ชวด[67][68] กับทั้งได้รับรางวัลสาขาแอนิเมชันยอดเยี่ยม (Animation Division Grand Prize) ณ เทศกาลศิลปะสื่อญี่ปุ่น ครั้งที่ 13 (13th Japan Media Arts Festival) ซึ่งโฮะโซะดะเคยได้รับสำหรับอนิเมะ กระโดดจั๊มพ์ทะลุข้ามเวลา เมื่อปี 2543 ครั้งหนึ่งแล้ว ตามลำดับ[69][70]

ครั้นเดือนกุมภาพันธ์ 2553 อนิเมะเรื่องนี้ได้รับการฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน ครั้งที่ 60 (60th Berlin International Film Festival) โดยเป็นส่วนหนึ่งของรายการสำหรับ วัยสิบสี่ปีขึ้นไป (Generation 14plus)[71][72] ต่อมา อนิเมะนี้ได้รับรางวัลแห่งความเป็นเลิศในแอนิเมชัน (Award of Excellence in Animation) ณ งานประกาศผลรางวัลอะแคเดมีญี่ปุ่น ครั้งที่ 33 (33rd Japan Academy Prizes) ที่บ้านเกิดเมืองนอน เป็นเหตุให้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแอนิเมชันแห่งปี (Animation of the Year Prize) และชนะเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2553[73][74] อนิเมะนี้ยังได้รับรางวัลผู้ชม (Audience Award) สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแอนะไฮม์ (Anaheim International Film Festival) รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดในเดือนตุลาคม 2553 และอีกสองเดือนให้หลัง โฮะโซะดะก็ได้รับรางวัลแอนนี (Annie Award) สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม นับเป็นชาวญี่ปุ่นคนที่สามที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแอนนีในสาขาดังกล่าว ทั้งนี้ สองคนก่อนหน้า คือ ฮะยะโอะ มิยะซะกิ และโจ ฮิไซชิ (Joe Hisaishi)[75]

อนึ่ง ฟันนิเมชันและจีคิดส์ (GKIDS) ได้ร่วมกันส่งอนิเมะนี้เข้าชิงรางวัลแอนิเมชันยอดเยี่ยมในงานประกาศผลรางวัลอะแคเดมี ครั้งที่ 83 (83rd Academy Awards) ด้วย แต่พ่าย[43][76][77]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ซัมเมอร์_วอร์ส http://webfiles.pardo.ch/perm/3106/OC322552_P3106_... http://www.tdg.ch/actu/culture/jury-62e-festival-l... http://www.allmovie.com/work/496020 http://www.animenewsnetwork.com http://www.animenewsnetwork.com/convention/2009/ot... http://www.animenewsnetwork.com/encyclopedia/anime... http://www.animenewsnetwork.com/interview/2009-12-... http://www.animenewsnetwork.com/news/2008-03-28/to... http://www.animenewsnetwork.com/news/2008-12-06/le... http://www.animenewsnetwork.com/news/2009-03-21/ka...