ประวัติ ของ ซิงจงเอี๋ยน

"ซิงจงเอี๋ยน" ก่อตั้งขึ้นมาครั้งแรกด้วยแรงหนุนของบรรดานักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีนชื่อดัง เมื่อปี 2481 ในยุคแรกใช้ชื่อว่า "ตงง้วน" ซึ่งอ่านออกเสียงตามภาษาจีนแต้จิ๋ว ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกญี่ปุ่นเข้าควบคุมกิจการอยู่ 1 ปี เพื่อใช้เป็นกระบอกเสียงให้กับรัฐบาลญี่ปุ่นในช่วงสงคราม เมื่อเข้าสู่ช่วงสงครามกลางเมืองจีน หนังสือพิมพ์ตงง้วนได้ถือนโยบายสายกลาง "แต่เอียงซ้ายนิด ๆ" ทำให้ได้รับความนิยมอย่างสูงในหมู่คนไทยเชื้อสายจีนในขณะนั้น ในเดือนตุลาคม 2501 ได้ปิดตัวลงหลังจากการขึ้นสู่อำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งปิดหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ในข้อหา "ซ้ายเกินไป" ตงง้วน กลับมาเปิดใหม่อีกครั้งโดยนายลี่ คี่ ย้งในปี 2517 หลังจากจอมพลถนอม กิตติขจร ออกนอกประเทศ พร้อมกับชื่อที่เปลี่ยนจาก "ตงง้วน" เป็น "ซิงจงเอี๋ยน" ซิง แปลว่า ใหม่ จงเอี๋ยน เป็นคำที่เขียนแบบเดิม ทว่าอ่านออกเสียงแบบจีนกลางแมนดาริน[3]

ต่อมานายผิน คิ้วไพศาล เจ้าของภูเก็ตแฟนตาซี และซาฟารีเวิลด์ ได้ขายกิจการให้นางผุสดี คีตวรนาฎ กระทั่งปี 2538 นายชาตรี โสภณพาณิชย์ เจ้าของธนาคารกรุงเทพ มาขอซื้อหุ้นกว่า 50% จากนางผุสดี และบริหารงานเอง ปัจจุบันนางผุสดียังเป็นผู้ถือหุ้น และเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา โดยนายชาตรีได้มอบให้ที่ปรึกษาส่วนตัว นายสุเทพ ศุภภัทรานนท์ มาเป็นกรรมการผู้อำนวยการ และบรรณาธิการบริหาร นายชาญศักดิ์ หิรัญสินสุนทร เป็นผู้จัดการทั่วไป[1] โดยนางผุสดีได้กล่าวว่า ตัวเองอายุมากแล้ว ลูกเต้าก็ไม่อยากจะมาทำหนังสือพิมพ์ ทางแบงก์กรุงเทพ ก็อยากจะได้ แล้วตอนนั้นเขาก็มีแผนกภาษาจีน คนรู้ภาษาจีนเยอะ เขาก็ซื้อไปส่วนหนึ่ง 50 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้ดิฉันก็ยังเป็นหุ้นส่วนใหญ่คนหนึ่งแต่ไม่ใช่ใหญ่ที่สุด แบงก์กรุงเทพถือหุ้นใหญ่ที่สุดเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ซิงจงเอี๋ยน[4]