ประวัติ ของ ซีทีเอช

สิงหาคม พ.ศ. 2552 ผู้ประกอบการโทรทัศน์ผ่านสายเคเบิล ระดับท้องถิ่นทั่วประเทศไทย ซึ่งส่วนมากเป็นสมาชิกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย จำนวนมากกว่า 100 รายประชุมร่วมกัน โดยมีมติให้รวมตัวกันเป็นบริษัท เคเบิลไทยโฮลดิง จำกัด ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ด้วยทุนจดทะเบียนประเดิมที่ 50 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์ในการเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์เนื้อหาโทรทัศน์รูปแบบต่างๆ รวมทั้งเป็นองค์กรกลางในการประกาศจัดเรียงช่องรายการ ที่บริษัทเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์ เพื่อให้เป็นรูปแบบเดียวกันในทุกช่องทางออกอากาศ ขณะเดียวกัน การมีที่มาจากผู้ประกอบการทั่วประเทศรวมตัวกัน ก็ถือเป็นการเพิ่มศักยภาพ ความแข็งแกร่ง เป็นเอกภาพ ตลอดจนให้การสนับสนุนเทคโนโลยีออกอากาศ การขยายเครือข่ายและการตลาด แก่ผู้ถือหุ้นและสมาชิกด้วย[1]

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555 บจก.เคเบิลไทยโฮลดิง จดทะเบียนแปรรูปเป็นบริษัทมหาชน เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 1,000 ล้านบาท เนื่องจากมีการปรับปรุงโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ โดยจากเดิมที่กลุ่มผู้ประกอบการโทรทัศน์ผ่านสายเคเบิลถือหุ้นทั้งหมด ปรับลดสัดส่วนลงเหลือร้อยละ 30 มีงบลงทุนที่ 300 ล้านบาท อีกส่วนหนึ่งมีวิชัย ทองแตง ประธานกรรมการบริหาร เครือโรงพยาบาลพญาไท และโรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล กับยิ่งลักษณ์ วัชรพล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท วัชรพล จำกัด และผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เข้าร่วมลงทุนในอัตราคนละ 250 ล้านบาท หรือถือหุ้นร้อยละ 25 ต่อคน[2]

โดยวิชัยเข้าดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร และยิ่งลักษณ์มอบหมายให้วัชร วัชรพล ประธานกรรมการบริหารบริษัท เทรนด์วีจีทรี จำกัด เจ้าของธุรกิจเว็บไซต์ข่าวไทยรัฐออนไลน์ ผู้เป็นบุตรชายรับตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหาร[3] ต่อมาราวปลายเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน วิชัยและยิ่งลักษณ์ปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือร้อยละ 23.5 โดยมีบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เข้าถือหุ้นในส่วนที่ว่างอยู่ พร้อมทั้งส่วนที่วิชัยกับยิ่งลักษณ์ปรับลด รวมเป็นร้อยละ 23[4]

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 บจก.เคเบิลไทยโฮลดิง จัดแถลงข่าวเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) รวมทั้งตราสินค้าและเครื่องหมายการค้าของบริษัทฯ โดยใช้สีฟ้าเทอร์ควอยส์เป็นหลัก ตลอดถึงโครงสร้างการบริหารงานต่างๆ ใหม่ทั้งหมด[5] และในวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 บมจ. จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ได้จัดงานแถลงข่าวใหญ่ร่วมกับซีทีเอช ซึ่งเป็นการประกาศโอนย้ายหน่วยธุรกิจจีเอ็มเอ็มแซตของจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ให้มาอยู่ภายใต้การดูแลของซีทีเอช โดยเป็นการแลกหุ้นระหว่างสองบริษัท คือฝ่ายจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่จะจ่ายเป็นหุ้นของบริษัท จีเอ็มเอ็มบี จำกัด และจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ก็จะได้หุ้นบางส่วนของซีทีเอชกลับคืนด้วย ทำให้จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของซีทีเอชนับจากนี้ และหลังจากนี้ซีทีเอชจะเป็นผู้ดูแลด้านแพคเกจของจีเอ็มเอ็มแซต และซีทีเอชก็จะได้ทีมงานของจีเอ็มเอ็มแซตมาช่วยดูแลด้านการบริการลูกค้าอีกเช่นกัน[6]

ปัจจุบัน บริษัทได้ปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2559 เนื่องจากไม่สามารถแบกรับภาระหนี้อันมากมายไหว[7]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ซีทีเอช http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/709952 http://magawn19.blogspot.com/2013/08/04-2556-gmmz-... http://www.mcot.net/site/content?id=50a5d034150ba0... http://web.archive.org/web/20100823060833/http://w... http://www.cth.co.th http://www.cth.co.th/%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E... http://m.thairath.co.th/content/eco/250438 http://m.thairath.co.th/content/newspaper/250519 http://www.thairath.co.th/content/eco/263420 http://www.thairath.co.th/content/eco/345215