ประวัติ ของ ซียูไรเตอร์

ซียูไรเตอร์ พัฒนาขึ้นโดยสถาบันบริการคอมพิวเตอร์ ร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2530[1] โดยโครงการนี้คาดหวังว่าจะใช้เป็นโปรแกรมสำหรับสร้าง และแก้ไขข้อความสำหรับโปรแกรมจัดการไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์[1] และออกรุ่นทดลองแจกจ่ายให้กับผู้ที่สนใจทดลองใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532[1][2] โดยตัวโปรแกรมมีลักษณะการแสดงผลแบบกราฟิก ใช้งานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ IBM PC compatible ที่มีการ์ดแสดงผลแบบ Hercules แต่เนื่องจากขณะนั้นเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่เป็นแบบ IBM PC หรือ IBM PC XT จึงทำให้ทำงานได้ช้ากว่าคนป้อนข้อมูล

ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. 2532 ได้เผยแพร่รุ่น 1.1 อย่างเป็นทางการ ผ่านทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 โดยประกาศให้เป็นโปรแกรมสาธารณะ และให้บุคคลทั่วไปคัดลอกสำเนาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ[1][2]

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2532 ได้ออกเผยแพร่รุ่น 1.2 โดยพัฒนาขึ้นให้สามารถใช้งานกับการ์ดแสดงผลแบบ VGA และ EGA ได้[1][2]

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ได้พัฒนารุ่น 1.2 ให้สามารถใช้กับจอแสดงผลชนิด EDA ของกระทรวงต่างประเทศที่ใช้อยู่ในเวลานั้นได้ รุ่นนี้ไม่มีเพลงตอนเริ่มโปรแกรม และสามารถใช้กับเครื่องพิมพ์แบบจุด 24 หัวเข็มได้[1][2]

การพัฒนาต่อมาแบ่งเป็น 2 สายคือ รุ่น 1.21 ออกเผยแพร่ประมาณเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2532 โดยรุ่นนี้สามารถบังคับเลือกใช้จอแสดงผลที่ต้องการได้ และสามารถเลือกได้ว่าจะมีเพลงหรือไม่ อีกสายหนึ่งคือ รุ่น 1.3 รุ่นนี้สามารถใช้งานกับการ์ดแสดงผลชนิด MCGA และ ATT400 (การ์ดแสดงผลของ AT&T 6300, Xerox 6060 หรือ Olivetti M24) ได้[2][3]

จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2532 ได้นำรุ่น 1.21 และ 1.3 มารวมกัน และปรับปรุงโครงสร้างของโปรแกรมให้พัฒนาได้ง่ายขึ้น เป็นรุ่น 1.4 รุ่นทดลอง[2][3]

รุ่น 1.41 ทดลอง ได้พัฒนาให้สามารถปรับระยะระหว่างบรรทัดขณะพิมพ์ ให้เหมาะกับจำนวนบรรทัดต่อหน้าได้[3]

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2533 ออกเผยแพร่ รุ่น 1.41 โดยแก้ไขข้อบกพร่องในการพิมพ์กับเครื่องพิมพ์ LQ, FX, LX ข้อบกพร่องในการพิมพ์ตาราง และรายละเอียดอื่นๆเล็กน้อย[2][4]

ต่อมาในวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2533 ในงานจุฬาวิชาการ '33 ออกเผยแพร่รุ่น 1.5 รุ่นทดลอง เรียกว่ารุ่น "NOVEMBER" ซึ่งพัฒนาให้สามารถแยกพื้นที่การแก้ไขเอกสาร (ทำงานแบบหน้าต่างหรือช่องแฟ้ม) ได้มากสุดถึง 8 พื้นที่ เพิ่มความสามารถในการคัดลอกส่วนของเอกสารแบบคอลัมน์ และสามารถบันทึกตัวเลือกรวมกับไฟล์เอกสารได้ แต่ยังมีข้อผิดพลาดเกี่ยวกับการพิมพ์บางจุดอยู่[4][3][5]

ต่อมาในเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2533 ได้ออกเผยแพร่รุ่น 1.5 เรียกว่ารุ่น "DECEMBER" ซึ่งเป็นรุ่นแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆ ของรุ่น 1.5 รุ่นทดลอง "NOVEMBER"[4][3]

ในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2534 ได้ออกเผยแพร่รุ่น 1.43 รุ่นทดลอง เป็นรุ่นที่ได้พัฒนาต่อจากรุ่น 1.41 โดยพัฒนาให้สามารถแสดงผลภาษาบาลี และภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาสเปน ภาษาฝรั่งเศส และภาษาเยอรมันได้[6][4][3]

รุ่น 1.51 เป็นรุ่นแก้ไขข้อผิดพลาดที่ยังมีอยู่ของรุ่น 1.5 ใช้ภายในไม่ได้นำออกเผยแพร่[4][3]

ต่อมาในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2534 ออกเผยแพร่รุ่น 1.52 ในงานคอมพิวเตอร์ไทย '91 เป็นรุ่นปรับปรุงจากรุ่น 1.51 เพื่อให้เลือกการใช้งานช่องแฟ้มเดียว หรือหลายช่องแฟ้มได้ และเพิ่มสีให้กับโปรแกรม เรียกว่ารุ่น "JUN 10"[4][3]

ต่อมาไม่นานในวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 ได้นำรุ่น 1.52 ซึ่งเป็นรุ่นที่ปรับปรุงจากรุ่น "JUN 10" ออกเผยแพร่ในงานอิเล็คโทรนิคส์ไทย '91 เรียกว่ารุ่น "JUN 26" โดยปรับปรุงแก้ไขปัญหาเครื่องคอมพิวเตอร์หยุดชงัก (hang) เป็นบางครั้งเมื่อใช้กับจอ VGA โมโนโครม และแก้ไข CUPRINT ให้พิมพ์จดหมายเวียนได้ถูกต้อง[3]

ในปี พ.ศ. 2536 ออกเผยแพร่รุ่น 1.6 ซึ่งพัฒนาต่อจากรุ่น 1.52 โดยเพิ่มความสามารถในการแยกพยางค์ (ตัดคำไทย) โดยใช้พจนานุกรม สามารถเลือกให้ตัวโปรแกรมไม่ทำการตรวจหลักภาษาไทยได้ รองรับการใช้งานแป้นพิมพ์ปัตตะโชติ เปลี่ยนภาษาของเมนูระหว่างภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษได้ เพิ่มแบบอักษรให้เลือกใช้ได้ 4 แบบ และสามารถพิมพ์สมการทางคณิตศาสตร์ได้[3]

นอกจากนี้ยังมีรุ่นอื่นๆ อีก เช่น ซียูไรเตอร์ฉบับภาษาลาว[7], ซียูไรเตอร์ซึ่งดัดแปลงสำหรับใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ NEC PC-9801 โดยนายวิวัฒน์ วงศ์วราวิภัทร์ และ CW สุขุม ที่ดัดแปลงจากรุ่น 1.52 เพื่อเพิ่มการทำงานสำหรับอักษรเบรลล์ เป็นต้น

ต่อมามีการพัฒนาโปรแกรมซียูไรเตอร์สำหรับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (CU-Writer for Windows) ชื่อมีชื่อว่า "จุฬาจารึก"