ประวัติ ของ ดาจิม

ดาจิม เกิดที่บ้านในย่านบางลำพู เขามีน้องชาย 1 คน ครอบครัวของเขาเป็นครอบครัวที่ชอบฟังเพลงทั้งบ้าน และเริ่มหันมาฟังเพลงอย่างจริงจังเมื่อสมัยที่เรียน ปวช. และยังเคยเข้าประกวดแข่งขันเต้นเพลงแร็พประเภททีมจนได้รองชนะเลิศอันดับ 2 มาแล้ว เริ่มทำงานครั้งแรกในชีวิตที่ร้านวิดีโอของพ่อ จนเมื่อเกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ธุรกิจร้านวิดีโอของพ่อก็ปิดตัวลง จึงย้ายไปทำงานเป็นพนักงานร้านขายเทป-ซีดีที่ ทาวเวอร์ เรคคอร์ด[1] หลังจากนั้นเจอกับเพื่อนเก่า "Dj Dig-it-all" ซึ่งทำห้องอัดเล็ก ๆ อยู่ ชักชวนกันทำอัลบั้ม โดย "ดาจิม" รับหน้าที่เป็นคนเขียนเนื้อเพลงทั้งหมด ส่วน "Dj Dig-it-all" รับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์ ดูแลภาคดนตรี

อัลบั้มชุดที่หนึ่ง และชุดสอง

ดาจิมปล่อยอัลบั้มชุดที่หนึ่งและชุดสอง ผลงานชิ้นแรกพ.ศ. 2543 ชื่อชุดว่า Hip Hop Under World ขายได้ 700 ก๊อปปี้ พร้อมเปิดบริษัท N.Y.U. Club (New York Underground) ดูแลการตลาดเองด้วยการนำเทปไปฝากขายตามร้านต่าง ๆ หลังจากนั้นก็ลาออกจากงานประจำเพื่อทำงานเพลงและได้เป็นเป็นดีเจที่ร้านแถวถนนข้าวสาร ซึ่งในระหว่างเป็นดีเจที่ถนนข้าวสาร ได้เขียนเพลงเพื่อจะร้องในอัลบั้มถัดมา ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 ออกอัลบั้ม Hip Hop Above The Law ขายได้ 8,000 ก๊อปปี้ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในวงการใต้ดิน มีเนื้อหารุนแรงและหยาบคาย มีเพลงดังอย่าง ห.ว.ย., อย่าให้กูเจอ, สลึง vs สลวย และ เสือกทำไม เนื้อหามีการใช้คำด่าทอเจ้าหน้าที่และส่อไปทางลามกอนาจร และเป็นที่นิยมเปิดในสถานบริการ

ถูกจับกุม

ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2544 ทางเจ้าหน้าที่กำลังเร่งปฏิบัติตามนโยบายจัดระเบียบสังคมของ ร.ต.อ. ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในช่วงนั้น จนเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มนักเที่ยวกับเจ้าหน้าที่ และดาจิมถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมด้วยเนื่องจากภายในอัลบั้ม Hip Hop Above The Law มีเนื้อหาที่หยาบคายและดูหมิ่นเจ้าหน้าที่

ย้ายสังกัด

ดาจิม ในงาน MTV Street Fest

หลังจากถูกจับกุม ดาจิมได้เข้ามาอยู่กับสังกัดจีนี่ เรคคอร์ดส ของแกรมมี่ มีผลงานอัลบั้มชุดที่ 3 ชุด แร็พไทย ในเดือนมีนาคม 2545 โดยอัลบั้มชุดนี้ได้ลดเนื้อหาความรุนแรงของการใช้คำในเพลง ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก และได้ออกผลงานอัลบั้มชุดที่ 4 คือ Twilight Zone และชุดที่ 5 กิ๊กทั่วไทย [2] แต่ชุดที่ 5 ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร


ค่ายเอ็นวายยูปิดตัวลง

" พุทธศักราช 2550 ข้าพเจ้าได้ถูกปลดปล่อยให้เป็นอิสรภาพ จากระบอบทุนนิยม ที่ใช้เงินเป็นอำนาจ ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของสังคมมนุษย์กลุ่มหนึ่ง ที่ยึดถือผลประโยชน์และยกตัวเองเป็นที่ตั้ง ณ บัดนี้ถึงเวลาที่ข้าพเจ้า จะสามารถมีวิถีชีวิตได้ตามตัวตนที่แท้จริงของข้าพเจ้าได้ "

หลังจากชุดที่ 5 ดาจิมได้กลับมาทำเพลงกับทางเอ็นวายยู และใช้เนื้อหาหยาบคายตามเดิม แต่ไม่รุนแรงเท่าชุดแรกๆ โดยใช้ชื่ออัลบั้มที่ 6 ว่า Independence Day แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากเนื่องจากมีการนำเพลงในอัลบั้มมาแจกจ่ายฟรีผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้ไม่สามารถขายแผ่นแท้ได้[3] หลังจากออกอัลบั้มนี้ได้ไม่นาน N.Y.U. ก็ได้แตกค่ายลง[ใครกล่าว?]

2555-ปัจจุบัน

ดาจิมเงียบหายไปหลายปี ก็ได้เข้าสังกัดค่าย Masscotte Entertainment และออกซิงเกิลใหม่ชื่อ เป๊ะเว่อร์ ในปี 2555 เพื่อที่จะแสดงให้แฟนเพลงเห็นว่าตนยังทำเพลงอยู่[3] แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากเพลงแร็พในไทยเริ่มได้รับความนิยมน้อยลง[ใครกล่าว?] ปัจจุบันดาจิมไม่ปรากฏตัวให้สาธารณชนพบเห็นบ่อยนัก แต่ล่าสุดในปี 2558 ดาจิมได้ออกซิงเกิ้ลอีกเพลงหนึ่งชื่อว่า Taxi BKK แต่ออกโดยไม่มีสังกัด ปัจจุบันดาจิมไม่ได้ทำอัลบั้มแล้ว เนื่องจากถึงจุดอิ่มตัว โดยมักจะไปร่วมร้องกับศิลปินอื่นๆ หรือคอนเสิร์ตตามที่ต่างๆ

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ดาจิมได้ปรากฏเป็นข่าวอีกครั้งหลังจากที่มีคลิปๆหนึ่งในสื่อโซเชียลมีเดียซึ่งมีตนอยู่ในคลิป โดยเป็นเหตุการณ์ที่ตนเรียกรถแท็กซี่แล้วรถไม่จอดรับ ทั้งที่รถแท็กซี่ที่ตนเรียกทุกคันก็ว่าง แต่ส่วนตัวก็ไม่ได้ติดใจแต่อย่างใด[4]

ใกล้เคียง