ประวัติ ของ ดาชาแห่งเซวัสโตปอล

มิไฮโลวา เกิดในชุมชนใกล้กับหมู่บ้านครูชิซี (รัสเซีย: Ключищи) ตำบลตาเชฟสกายา (รัสเซีย: Ташевская) ในจังหวัดคาซัน พ่อของเธอเป็นกะลาสีในกองทัพเรือจักรวรรดิรัสเซีย เขาเสียชีวิตลงในยุทธการซิโนปี (ตุรกี: Sinop Baskını) ในปี ค.ศ. 1853 (พ.ศ. 2396)[3] ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นสงครามไครเมีย ขณะนั้นเธอมีอายุ 17 ปี

ก่อนสงคราม เธอทำงานเป็นพนักงานซักผ้าและช่างเย็บปักถักร้อยให้กับบุคลากรของกองทัพเรือจักรวรรดิรัสเซียในเขตโคราบืลนาเย (ยูเครน: Корабельная сторона) ของเมืองเซวัสโตปอล ใกล้อู่ต่อเรือเซวัสโตปอล เธอออกจากบ้านเมื่อเกิดสงครามเพื่อช่วยดูแลทหารรัสเซียที่ได้รับบาดเจ็บในสนามรบระหว่างยุทธการอัลมา (กันยายน ค.ศ. 1854) เธอตั้งสถานพยาบาลโดยใช้น้ำส้มสายชูและแถบผ้าจากเสื้อของเธอเพื่อทำความสะอาดและแต่งบาดแผลของทหาร เธอได้รับยกย่องเป็นภคินีเมตตาธรรม (รัสเซีย: сестра милосердия) ของกองทัพจักรวรรดิรัสเซียคนแรกระหว่างสงครามไครเมีย

จักรพรรดินีโคลัสที่ 1 (สวรรคต ค.ศ. 1855) พระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์นักบุญเจ้าชายวลาดีมีร์ (รัสเซีย: орден Святого Владимира) แก่เธอพร้อมด้วยรางวัลเหรียญทอง "แห่งความขยันหมั่นเพียร" (รัสเซีย: Медаль «За усердие») ซึ่งเธอเป็นหญิงชาวรัสเซียชนชั้นล่างเพียงคนเดียวที่ได้รับรางวัลนี้ เธอยังได้รับรางวัลเหรียญเงิน 500 รูเบิล ต่อมาเธอได้สมรสกับพลทหารมักซิม คโวรอสตอฟ (Максим Хворостов) ในปี ค.ศ. 1855 และจักรพรรดิพระราชทานเงินขวัญถุงอีก 1,000 รูเบิลเหรียญเงิน[4]

ทั้งคู่เปิดกิจการโรงแรมขนาดเล็กในหมู่บ้าน แล้วย้ายไปที่เมืองนีโคลาเยฟ (รัสเซีย: Никола́ев) แต่ในที่สุดดาชาก็กลับมาที่เมืองเซวัสโตปอล ซึ่งเธอได้เปิดร้านจำหน่ายสุราพร้อมทั้งทำงานในโรงพยาบาล เมื่อเกษียณเธอได้รับรูปเคารพพระคริสต์ซึ่งผู้เคยเป็นผู้ป่วยของเธอร่วมกันบริจาคเงินซื้อเป็นของขวัญ

เธอเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1892 บันทึกระบุว่าเธอได้รับการฝังในสุสานของเมืองโคราบืลนาเย ขณะที่อีกแหล่งข้อมูลระบุว่าเธอกลับไปที่บ้านเกิดซึ่งไม่มีญาติของเธอเหลืออยู่ หลังจากบริจาครูปเคารพของนักบุญนิโคลัสให้กับโบสถ์ท้องถิ่น เธอออกจากหมู่บ้านชือลานกึย (ตาตาร์: Шылаңгы) ใกล้กับหมู่บ้านที่เป็นบ้านเกิดของเธอ และเสียชีวิตในอีกหกเดือนต่อมา