การค้นพบ ของ ดาวมาคีมาคี

ดาวมาคีมาคีถูกค้นพบเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2548 จากพร้อมทีมค้นหาที่มีไมเคิล อี. บราวน์เป็นผู้นำ[3] มีการเผยแพร่ข่าวการค้นพบสู่สาธารณะเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่มีการประกาศค้นพบดาวอีริสและตามหลังการประกาศค้นพบดาวเฮาเมอาเมื่อสองวันก่อน[11]

แม้ว่าดาวมาคีมาคีจะมีความสว่างอยู่บ้าง แต่กลับไม่มีผู้ค้นพบมันจนกระทั่งหลังจากที่วัตถุแถบไคเปอร์อื่น ๆ จางลงมาก การค้นหาดาวเคราะห์น้อยส่วนใหญ่จะค้นหาจากท้องฟ้าที่อยู่ใกล้กับแนวสุริยวิถี (บริเวณบนท้องฟ้าที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ต่าง ๆ ปรากฏเมื่อมองจากโลก) เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะพบวัตถุฟากฟ้าใหม่ ๆ ที่บริเวณนั้น แต่เนื่องจากวงโคจรของดาวมาคีมาคีมีระนาบเอียงมาก และยังอยู่ในระยะไกลจากแนวสุริยวิถีมากที่สุดในขณะที่ถูกค้นพบ (ทางด้านเหนือของกลุ่มดาวผมเบเรนิซ[12]) จึงเป็นไปได้ว่ามันอาจจะรอดพ้นจากการถูกตรวจพบในการสำรวจครั้งก่อน ๆ ไปได้

นอกจากดาวพลูโตแล้ว ดาวมาเกมาเกเป็นดาวเคราะห์แคระเพียงดวงเดียวที่สว่างมากพอที่ไคลด์ ทอมบอ (Clyde Tombaugh) อาจค้นพบได้ระหว่างการค้นหาดาวเคราะห์พ้นดาวเนปจูนประมาณคริสต์ทศวรรษ 1930[13] ในช่วงเวลาที่ทอมบอทำการสำรวจอยู่นั้น มาคีมาคีมีตำแหน่งอยู่ห่างจากแนวสุริยวิถีเพียงไม่กี่องศา ใกล้กับเขตแดนของกลุ่มดาววัวและกลุ่มดาวสารถี[c] โดยมีอัตราความสว่างปรากฏอยู่ที่ 16.0[12] อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งนี้ก็ยังอยู่ใกล้กับทางช้างเผือก จึงแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะพบดาวดวงนี้ท่ามกลางพื้นหลังที่หนาแน่นไปด้วยดวงดาว ทอมบอยังคงค้นหาต่อไปอีกหลายปีหลังจากที่เขาค้นพบดาวพลูโต[14] แต่เขาก็ประสบความล้มเหลวในการค้นพบดาวมาเกมาเกหรือดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ที่อยู่ถัดจากดาวเนปจูนออกไป

การตั้งชื่อ

ดาวมาเกมาเกมีชื่อชั่วคราวว่า 2005 FY9 เมื่อข่าวการค้นพบได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณะ โดยก่อนหน้านั้นทีมค้นหาได้ใช้ชื่อรหัสว่า อีสเตอร์บันนี (Easter Bunny) เรียกดาวดวงนี้ เพราะได้พบมันไม่นานหลังจากวันอีสเตอร์ได้ผ่านไป[15]

และในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2551 เพื่อให้สอดคล้องกับกฎการตั้งชื่อของสหภาพดาราศาสตร์นานาชาติสำหรับวัตถุชั้นเอกในแถบไคเปอร์ ดาว 2005 FY9 ก็ได้รับการตั้งชื่อตามชื่อของเทพผู้สร้างพระองค์หนึ่ง โดยชื่อมาคีมาคี (Makemake) เทพเจ้าผู้ให้กำเนิดมนุษยชาติและเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ในเทวตำนานของชาวราปานุยซึ่งเป็นชนพื้นเมืองของเกาะอีสเตอร์[5] ได้รับการคัดเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในการรักษาความเชื่อมโยงระหว่างดาวดวงนี้กับวันอีสเตอร์ไว้[15]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ดาวมาคีมาคี http://articles.latimes.com/2005/oct/16/local/me-p... http://www.mikebrownsplanets.com/2008/07/whats-in-... http://web.gps.caltech.edu/~mbrown/dwarfplanets/ http://web.gps.caltech.edu/~mbrown/planetlila/ http://adsabs.harvard.edu/abs/2006ApJ...639L..43B http://adsabs.harvard.edu/abs/2016ApJ...825L...9P http://cfa-www.harvard.edu/iau/mpec/K08/K08O05.htm... http://www.boulder.swri.edu/~buie/kbo/astrom/13647... http://www.lpi.usra.edu/meetings/acm2008/pdf/8261.... http://ssd.jpl.nasa.gov/horizons.cgi?find_body=1&b...