ลักษณะทางธรณีวิทยา ของ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

แผนที่แสดงลักษณะทางธรณีวิทยาบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

จากการศึกษาถึงลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นที่บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงพบว่าบริเวณนี้มีการแบ่งหลักๆ ออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือพื้นที่ที่อยู่เหนือน้ำและพื้นที่ที่อยู่ใตน้ำ

  1. ส่วนของพื้นที่ที่อยู่เหนือน้ำ พบว่าสามารถแบ่งย่อยโดยอาศัยความสูงต่ำของพื้นที่เป็นตัวแบ่งได้อีกเป็น 2 ส่วนคือส่วนของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำส่วนบนหรือส่วนนอกซึ่งเป็นบริเวณที่ได้รับอิทธิพลจากแม่น้ำเป็นหลัก และส่วนของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำส่วนล่างหรือส่วนนอกซึ่งเป็นบริเวณที่ได้รับอิทธิพลจากการกระทำของทะเลเป็นหลัก พื้นที่ที่อยู่เหนือน้ำของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงนี้พบว่าเกิดจากการสะสมตัวของตะกอนในช่วง 6,000-7,000 ปีที่ผ่านมาหรือหลังจากช่วงที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดในสมัยโฮโลซีนตอนกลาง นอกจากนี้พื้นที่ส่วนนี้ยังรวมส่วนที่เป็นชายหาดซึ่งพบว่าได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้น-น้ำลงเป็นหลัก โดยบริเวณนี้น้ำขึ้นสูงสุดประมาณ 3.2-3.8 เมตร
  2. ส่วนของพื้นที่ที่อยู่ใต้น้ำ พบว่าสามารถแบ่งย่อยโดยอาศัยความสูงต่ำของพื้นที่เป็นตัวแบ่งได้อีกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นที่ราบที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้น-น้ำลงซึ่งพบว่าส่วนนี้มีความหนาของตะกอนประมาณ 6 เมตร และกว้างประมาณ 5-20 กิโลเมตร และส่วนที่เป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงทื่ยื่นออกไปสู่ทะเล

หน้าดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงถือเป็นดินดอนสามเหลี่ยมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ตรงบริเวณทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเวียดนาม โดยเป็นบริเวณที่แม่น้ำโขงซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากที่ราบสูงธิเบตแล้วไหลมาทางทิศใต้ผ่าน 7 ประเทศ ไหลออกสู่ทะเลจีนใต้ที่บริเวณนี้ โดยบริเวณที่เกิดการสะสมตัวของตะกอนในลักษณะของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำนั้นพบว่าแม่น้ำโขงมีการแตกออกเป็นสาขาย่อยๆ หลายสาขา

ปัจจุบันพบว่าดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงมีความกว้างของดินดอนสามเหลี่ยมใหญ่ที่สุดที่หนึ่งของโลกและกินพื้นที่ 39,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นสัดส่วนโดยมากของพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเวียดนาม พื้นที่ของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงส่วนที่ถูกปกคลุมด้วยน้ำนั้นขึ้นกับแต่ละฤดู เพราะปริมาณน้ำไม่เท่ากัน จากการศึกษาพบว่าบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงนั้นมีการพัดพาของน้ำมาประมาณ 470 ลูกบากศ์กิโลเมตรต่อปี ซึ่งน้ำที่ไหลมาในบริเวณนี้ได้พัดพาตะกอนมาตกสะสมประมาณ 790,000-810,000 ตารางกิโลเมตรต่อปี

นอกจากนี้พบว่าเมื่อประมาณ 6000 ปีที่ผ่านมา มีการพอกของตะกอนในบริเวณนี้ในลักษณะการพอกคืบเข้าไปในทะเลคิดเป็น 200 กิโลเมตร รอบชายแดนของประเทศเขมรและชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม โดยในปัจจุบันพบว่าลักษณะปรากฏของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงนั้น มีรูปร่างคล้ายรูปสามเหลี่ยมที่กินเนื้อที่เป็นบริเวณกว้าง

ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงได้มีการศึกษาเรื่องการกระจายตัวของสิ่งมีชีวิตบริเวณนี้ โดยพบว่าบริเวณนี้เป็นแหล่งรวมสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่กว่า 10,000 สายพันธุ์ ซึ่งทำให้บริเวฯดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงนี้นอกจากจะมีความน่าสนใจในการศึกษาเกี่ยวกับลักษณะทางธรณีวิทยาแล้วยังมีความน่าสนใจเป็นอย่างมากในการศึกษาเกี่ยวกับระบบชีววิทยาของพื้นที่


การลำดับชั้นตะกอน

ภาพแสดงลักษณะการลำดับชั้นหินบริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

ในบริเวณนี้พบว่าจากการเจาะศึกษาตะกอน สามารถแบ่งตะกอนได้ออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ

  1. ตะกอนที่มีลักษระไม่ชัดเจนแต่มีอายุอยู่ในสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย โดยพบว่าตะกอนกลุ่มนี้ปรากฏอยู่ตอนล่างสุดของหลุมเจาะ โดยมีลักษณะเป็นตะกอนแข็งเหนียวของทรายแป้งและทรายที่มีเม็ดตะกอนขนาดเล็ก มีการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนบางส่วน เราจึงพบชั้นที่เป็นศิลาแลงปนอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังพบชั้นตะกอนที่มีการกระจายตัวของ เม็ดควอทซขนาดใหญ่และพบลักษระของการวางตัวของชั้นตะกอนแบบขนานปนกับแบบลิ่ม ซึ่งจากการหาอายุของตะกอนโดยใช้คาร์บอนไอโซโทบพบว่าตะกอนชั้นนี้มีอายุประมาณ 43,500-50,500 ปี ซึ่งตะกอนกลุ่มนี้วางตัวอยู่ใต้ ตะกอนที่มีอายุสมัยโฮโลซีนและพบลักษณะรอยชั้นไม่ต่อเนื่องด้วย
  2. ตะกอนกลุ่มที่เกิดการสะสมตัวบริเวณหุบเขาในช่วงน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น โดยตะกอนกลุ่มนี้วางตัวอยู่บนตะกอนกลุ่มแรกโดยพบลักษณะชัดเจนที่หลุมบีที 2 ซึ่งแสดงการตัดเข้ามาของหุบเขา ในช่วงยุคน้ำแข็งยุคสุดท้ายหรือเมื่อประมาณ 18,000 ปีมาแล้ว ซึ่งหลังจากนั้นพบว่าเกิดการละลายของธารน้ำแข็งทำให้มีการเพิ่มขึ้นของน้ำทะเลอย่างรวดเร็วประกอบกับการตัดเข้ามาของหุบเขาในบริเวณนี้ทำให้มีการเพิ่มพื้นที่สะสมตัวของตะกอนจึงพบการสะสมตัวของตะกอนเป็นปริมาณมากซึ่งประกอบด้วยตะกอนทรายขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ตะกอนขนาดทรายแป้ง และตะกอนโคลน บางส่วนพบว่ามีการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนเกิดเป็นชั้นบางๆ ของศิลาแลง บางส่วนเกิดการพอกเป็นชั้นของคาร์บอเนต พบการวางตัวของชั้นตะกอนทั้งแบบขนานและแบบทำมุม นอกจากนี้พบซากบรรพชีวินหลายชนิดที่สามารถบ่งบอกสภาพแวดล้อมการสะสมตัวของตะกอนได้เป็นแบบทะเล แบบน้ำกร่อยและแบบน้ำจืด
  3. ตะกอนดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำสมัยโฮโลซีน โดยตะกอนกลุ่มนี้แสดงการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมการตกสะสมตัวที่แสดงการพอกของตะกอนในทิศออกสู่ทะเล โดยเราจะพบว่าเม็ดตะกอนมีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อใกล้ระดับพื้นผิว โดยตะกอนที่พบมีขนาดหลากหลาย เช่น ตะกอนทรายขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ตะกอนทรายแป้ง ตะกอนโคลน เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบซากบรรพชีวิน เช่น เศษชิ้นส่วนของเปลือกหอย แพลงตอน ไดอะตอม เป็นต้น ซึ่งจากการศึกษาซากบรรพชีวินเหล่านี้พบว่าแสดงการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมสอดคล้องกับการพอกของตะกอนในทิศออกสู่ทะเล

ใกล้เคียง

ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโอคาวังโก ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำดานูบ ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโอริโนโก

แหล่งที่มา

WikiPedia: ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง http://chornorpor.blogspot.com/2011/01/blog-post_9... http://maps.google.com/maps?ll=10.009,105.824&spn=... http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=10.009&... http://www.oceansmile.com/Vietnam/HogiminTalay.htm http://www.terraserver.com/imagery/image_gx.asp?cp... http://www.globalguide.org?lat=10.009&long=105.824... http://www.wikimapia.org/maps?ll=10.009,105.824&sp... http://en.wikipedia.org/wiki/Mekong_Delta //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.dmr.go.th/main.php?filename=rocks