ดินสอพองในประเทศไทย ของ ดินสอพอง

พจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2544 ได้ให้นิยามดินสอพองว่าเป็นหินปูนเนื้อมาร์ล (marly limestone) ที่เป็นดินที่เนื้อเป็นสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเอามะนาวบีบใส่ น้ำมะนาวมีกรดซึ่งเมื่อทำปฏิกิริยากับแคลเซี่ยมคาร์บอเนตเกิดเป็นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นฟองฟูขึ้น ดูเผิน ๆ ก็เห็นว่าดินนั้นพองตัว จึงเรียกกันว่า ดินสอพอง โบราณใช้ทำแป้งประร่างกายเพื่อให้เย็นสบาย เมื่อผสมน้ำหอมเข้าไปด้วยกลายเป็นแป้งกระแจะ ใช้ทำยาสีฟัน ปัจจุบันนี้ใช้มากในการแก้ดินเปรี้ยว ผสมทำธูป ทำปูนซีเมนต์ เพราะเสียค่าขุดและค่าบดต่ำกว่าใช้หินปูนซึ่งมีเนื้อเป็นสารประกอบชนิดเดียวกัน แหล่งใหญ่ในประเทศไทยมีในท้องที่อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี

สมัยโบราณใช้เป็นเครื่องประทินผิว ทาตัวเด็กแก้ผื่นคัน ใช้ทาพื้นที่ลงรักให้เห็นลายชัดเจน ดินสอพองที่ใช้ทำยาจะนำไปสะตุ โดยอบในหม้อดินจนแห้ง ดินสอพองสะตุใช้ทำยารักษาแผลกามโรค แผลเรื้อรัง คำว่าสอในดินสอพองนั้นมาจากภาษาเขมรแปลว่าขาว ดินสอพองจึงหมายถึงดินสีขาวที่ไม่แข็งตัว[2]