บทบาทในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ของ ดิเรก_ชัยนาม

ในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 คณะเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นพร้อมด้วยผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร ได้ขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีของไทย คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่นายกรัฐมนตรีไม่อยู่ เนื่องจากไปตรวจดูสถานการณ์ชายแดนอรัญประเทศ พล.ต.อ. อดุล อดุลเดชจรัส รองนายกรัฐมนตรี ผู้รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ดิเรก ชัยนาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ออกมารับแทน

เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นแจ้งว่า ญี่ปุ่นได้ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ และได้ตัดสินใจส่งกำลังทหาร เข้าโจมตีดินแดนของทั้งสองประเทศ ใน 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เวลา 01.00 ดินแดนบางส่วนที่ญี่ปุ่นจะบุกเข้า ต้องอาศัยผ่านดินแดนของไทย ฉะนั้นญี่ปุ่นจึงใคร่จะขออนุญาตจากรัฐบาลไทย ให้ญี่ปุ่นส่งกำลังบำรุงผ่านดินแดนประเทศไทย เพื่อดำเนินการศึกต่อฝ่ายอังกฤษ โดยขอให้รัฐบาลตอบภายใน 4 ชั่วโมง

ซึ่งดิเรกกล่าวว่า "การที่จะอนุญาตหรือไม่นั้นข้าพเจ้าไม่มีอำนาจแต่อย่างใด เพราะท่านก็ทราบดีแล้วว่า ข้าพเจ้าเป็นเพียงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อำนาจสั่งไม่ให้ต่อสู้นั้นคือนายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกตำแหน่ง ... ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ประกาศเป็นคำสั่งประจำไว้แล้วว่า ไม่ว่ากองทหารประเทศใด ถ้าเข้ามาแผ่นดินไทย ให้ต่อต้านอย่างเต็มที่ ฉะนั้นผู้ที่จะยกเลิกคำสั่งนี้คือผู้บัญชาการทหารสูงสุด"แต่ขณะนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด กำลังตรวจราชการอยู่ที่ชายแดนภาคตะวันออก ซึ่งถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง สงครามกับมหามิตรที่กลายเป็นผู้รุกรานเพียงข้ามคืน ก็มิอาจเลี่ยงได้

ทางคณะรัฐมนตรีได้พิจารณากันถึงผลดีผลเสียหากต่อสู้กับญี่ปุ่น ในที่สุดนายกรัฐมนตรีได้ลงความเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะต่อต้านเพราะไทยไม่มีกำลังพอ อังกฤษและสหรัฐฯ ก็ไม่มีทางที่จะมาช่วยเหลือไทยได้ ขืนสู้ญี่ปุ่นไปประเทศไทยก็จะเสียหายอย่างหนัก คณะรัฐมนตรีจึงสั่งให้หยุดยิงเพื่อเจรจากับญี่ปุ่น ฝ่ายญี่ปุ่นได้เสนอทางเลือกให้ไทย 4 แผน ดังนี้

  • แผนที่ 1 ไทยกับญี่ปุ่นทำสัมพันธ์ไมตรีในทางรุกและป้องกันร่วมกัน
  • แผนที่ 2 ไทยเข้าเป็นภาคีกติกาสัญญาไตรภาคี ฉบับลงวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2483 กล่าวคือ เข้าร่วมฝ่ายอักษะกับเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น
  • แผนที่ 3 ไทยให้ความร่วมมือทางทหารตามที่จำเป็นแก่ญี่ปุ่น รวมทั้งการอนุญาตให้ญี่ปุ่นผ่านอาณาเขตไทย และให้ความสะดวกทุกอย่างที่จำเป็น พร้อมทั้งป้องกันมิให้เกิดปะทะกันระหว่างทหารไทยกับทหารญี่ปุ่น
  • แผนที่ 4 ไทยกับญี่ปุ่นรับร่วมกันป้องกันประเทศไทย

คณะรัฐมนตรีความเห็นแตกแยกออกเป็นหลายฝ่าย ดิเรกเสนอว่า โดยที่ประเทศไทยได้ยืนยันจะรักษาความเป็นกลางตลอดมา หากจำเป็นต้องยอมให้แก่ฝ่ายญี่ปุ่น อย่างมากก็ควรจะยอมเพียงให้กำลังทหารญี่ปุ่นผ่าน ตามแผนที่ 3 เท่านั้น ถ้ายอม มากกว่านั้น โลกอาจจะมองไทยว่า ทั้งๆ ที่ประกาศจะเป็นกลาง ความจริงแล้วสมคบกับญี่ปุ่น ตลอดมามิใช่ ต้องยอมเพราะสู้ไม่ไหว พล.ต.อ. อดุล และ ปรีดี พนมยงค์ สนับสนุนดิเรก ในที่สุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นว่า แผนที่ 3 เหมาะสมที่สุด จึงได้นำข้อตกลงไปเสนอแจ้งแก่ญี่ปุ่น และมีการลงนามในข้อตกลงที่ไทย ยินยอมให้ญี่ปุ่นส่งกำลังทหารผ่านประเทศไทย ประเทศไทยจึงประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกาเมื่อ 25 มกราคม พ.ศ. 2485

ในภายหลังดิเรกได้เขียนหนังสืออธิบายถึงเหตุการณ์บ้านเมืองในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยอธิบายให้เห็นภาพเหตุการณ์ บุคคลแวดล้อม ชั้นเชิงทางการทูต กุศโลบายทางการเมือง กลวิธีทางการทหารของประเทศที่ร่วมในสงคราม ตลอดจนวิธีคลี่คลายปัญหาต่างๆ ของประเทศไทย ซึ่งร่วมอยู่ในเหตุการณ์ ให้รอดพ้นมหาภัยในครั้งนั้น ในหนังสือ ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2

ใกล้เคียง

ดิเรก ชัยนาม ดิเรก อมาตยกุล ดิเรกสิน รัตนสิน ดิเรก ลาวัณย์ศิริ ดิเรก อิงคนินันท์ ดิเรก เจริญผล ดิเรกคุณาภรณ์ ดิเกร์ ฮูลู ดาเรกะโนะทาเมนิ-ว็อตแคนไอดูฟอร์ซัมวัน?- ดิแรกเดลตาฟังก์ชัน

แหล่งที่มา

WikiPedia: ดิเรก_ชัยนาม http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2468/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2482/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2488/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2488/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2489/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2489/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2489/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2503/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2506/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2510/D/...