ตราประทับที่เกี่ยวข้องกับการสะสมแสตมป์ ของ ตราประทับ

ตราประจำวันที่ทำการไปรษณีย์ชั่วคราว สุขสันต์ปีใหม่ 2532

นอกเหนือจากตราประทับสำหรับใช้งานทั่วไปทางไปรษณีย์แล้ว ยังมีตราประทับที่จัดทำขึ้นสำหรับการสะสมโดยเฉพาะ ได้แก่

ตราประจำวันของที่ทำการไปรษณีย์ชั่วคราว

เป็นตราประจำวันของที่ทำการไปรษณีย์ ที่เปิดให้บริการด้านไปรษณีย์ตามงานต่าง ๆ บางงานจะนำตราประจำวันจากที่ทำการไปรษณีย์ในท้องที่ไปให้ประทับตรา แต่ในหลายงานมีการออกแบบตราประจำวันเป็นพิเศษ และใช้งานเป็นเวลาจำกัด จึงมีคุณค่าต่อการสะสม ตัวอย่างเช่น ในงานนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ หรือ งานแสดงตราไปรษณียากรแห่งชาติ เป็นต้น ตราประจำวันดังกล่าวสามารถประทับได้เฉพาะในงานเท่านั้น เมื่อจบงานตราจะถูกเก็บเข้าคลังไม่สามารถหาประทับได้อีก

ตราประทับวันแรกจำหน่าย

ตราประทับวันแรกจำหน่าย เป็นตราที่ประทับลงบนซองวันแรกจำหน่ายหรือของสะสมอื่น ๆ มักปรากฏอยู่บนซองเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ตอนซื้อ กล่าวคือนักสะสมไม่สามารถประทับตรานี้เองได้ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่วันแรกจำหน่าย

ตราที่ระลึก

ตราที่ระลึก แยกวันละตรา

ตราที่ระลึก เป็นตรายางที่วางอยู่ในงานวันแรกจำหน่ายในไปรษณีย์ที่จัดงาน หรือตามงานต่าง ๆ ที่ไปรษณีย์ไปเปิดบริการ (เช่น งานกาชาด) ตราที่ระลึกนี้นักสะสมสามารถประทับเองได้ โดยมีกฎเกณฑ์ (เพิ่งเพิ่มมาภายหลัง) ว่า ตราที่ระลึกจะต้องประทับบนดวงแสตมป์อย่างน้อยเท่ากับอัตราค่าส่งต่ำสุดทางไปรษณีย์ แต่มีอนุโลมในหลายกรณี เช่น เมื่อประทับบนซองวันแรกจำหน่าย

นักสะสมกำลังประทับตราที่ระลึกในงาน โดยในภาพเป็นงานแสดงตราไปรษณียากรภาคพื้นเอเชีย ครั้งที่ 20 ณ สยามพารากอน กรุงเทพมหานคร

ตราที่ระลึก อาจเป็นตราเดียวตลอดทั้งงาน (เรียกตรารวม) หรือแยกวันละตรา (เรียกตราแยก) ถ้าเป็นเป็นแบบตราเดียวตลอดทั้งงาน ไปงานวันไหนก็สามารถประทับตรานั้นได้หมด สำหรับแบบที่แยกวันนั้น วิธีการสะสมจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ สำหรับประเทศไทย ในอดีตวันแรกของงานจะมีแค่ตราที่ตรงกับวันแรก วันที่สองจะมีตราทั้งวันแรกและวันที่สอง ไล่ไปจนถึงวันสุดท้ายของงาน จะมีตราให้ประทับครบทุกวัน ส่วนปัจจุบันมักมีเฉพาะตราที่ตรงกับวันยกเว้นวันสุดท้ายที่มีตราครบทุกวัน นักสะสมสามารถสะสมตราแบบแยกให้ครบทุกตราได้สองวิธี

  • วิธีแรก ผู้ที่สะสมต้องไปตามงานต่าง ๆ เช่น งานกาชาด อย่างน้อยในวันแรกและวันสุดท้าย โดย ในวันแรกจะได้ตราประจำวันที่ตรงกับวันแรกจำหน่ายของแสตมป์ ส่วนวันสุดท้ายจะได้ตราที่ระลึกครบทุกวัน แต่ถ้าไปได้บ่อยจะได้ตราที่ระลึกที่ชัดเจนกว่า เพราะตราที่ระลึกทำจากยาง ตราที่ตรงกับวันแรก ๆ มักจะเริ่มสึกหรอเมื่อถึงช่วงวันสุดท้ายของงาน
  • วิธีที่สอง ในหลายงานจะมีการตั้งตู้ไปรษณีย์สำหรับรับจดหมายที่ต้องการประทับตรา ผู้สะสมต้องไปในวันแรก ทำซองจดหมายหรือไปรษณียบัตร จ่าหน้าถึงตัวเอง และติดแสตมป์ตามข้อกำหนด สำหรับประเทศไทย กำหนดให้ต้องติดแสตมป์สองส่วน ส่วนแรกสำหรับค่าส่งซึ่งจะประทับด้วยตราประจำวัน อีกส่วนซึ่งต้องติดเพิ่มเท่ากับอัตราค่าส่งจดหมายธรรมดาเพื่อให้เจ้าหน้าที่ประทับตราที่ระลึก และนำไปหย่อนในตู้ต่าง ๆ ซึ่งแต่ละตู้ก็จะตรงกับตราที่ระลึกหนึ่งตรา เมื่อถึงวันที่ตรงกับตราเจ้าหน้าที่จะนำจดหมายหรือไปรษณีย์บัตรออกจากตู้นั้นมาประทับและส่งทางไปรษณีย์ (แต่อาจไม่ได้ดังใจเหมือนประทับด้วยตัวเอง)

งานบางงานที่จัดเป็นเวลานาน แทนที่จะให้แต่ละวันมีตราแยกกัน อาจจะกำหนดช่วงเวลาหนึ่ง ๆ สำหรับแต่ละตรา เช่น งานราชพฤกษ์ 2549 มีทั้งตรารวม (ซึ่งประทับได้ตลอดงาน 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549-31 มกราคม พ.ศ. 2550) กับตราในแต่ละช่วง ทั้งหมด 6 ช่วง ได้แก่ ดอกไม้นานาชาติ (1-12 พฤศจิกายน) อลังการจักรวาลดอกไม้ (10-16 พฤศจิกายน) ไม้น้ำและบัว (17-27 พฤศจิกายน) พันธุ์ไม้แปลก หายากและพันธุ์ใหม่ (1-11 ธันวาคม) ผักและผลไม้ (29 ธันวาคม-7 มกราคม) และ ไม้ใบกระถาง (20-31 มกราคม)[1]

ตราประจำงาน

ตราประทับที่ประกอบด้วยชื่องาน ตลอดจนช่วงเวลาและสถานที่จัดงานนั้น เพื่อให้นักสะสมประทับลงบนสิ่งสะสมเพื่อบอกรายละเอียดเกี่ยวกับงาน

ตราประจำที่ทำการไปรษณีย์

เป็นตราที่ ที่ทำการไปรษณีย์ บางแห่งจัดทำขึ้นเพื่อให้นักสะสมประทับตราเป็นที่ระลึก โดยเฉพาะที่ทำการไปรษณีย์ที่จัดงานวันแรกจำหน่ายแสตมป์อยู่เป็นประจำ สามารถไปขอประทับที่ทำการไปรษณีย์นั้น ๆ ร่วมกับตราประจำวันและตราที่ระลึกได้เมื่อมีการจัดงาน